หมอเวชศาสตร์เขตร้อนยันไทยมีไข้เลือดออกแค่ 4 สายพันธุ์ ระบุสายพันธุ์ที่ 5 ยังอยู่ในป่าที่อินโดนีเซีย เคยพบติดเชื้อในคน 1 รายหลายปีก่อน แต่รักษาหายได้ ไม่มีการระบาด
นพ.เกรียงศักดิ์ ลิมป์กิตติกุล รอง ผอ.รพ.เวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงกรณีที่มีการเผยแพร่บทความทางวิชาการค้นพบเชื้อไวรัสเดงกีสายพันธุ์ที่ 5 ว่า เชื้อไวรัสเดงกีสายพันธุ์ที่ 5 เป็นสายพันธุ์ที่อยู่ในป่า ซึ่งพบมานานจากกรณีที่มีชาวอินโดนีเซียรายหนึ่งเข้าไปในป่าแล้วติดเชื้อ มีอาการป่วยลักษณะคล้ายกับไข้เลือดออก แต่จากการตรวจเลือดพบว่าไม่เหมือนเชื้อไวรัสเดงกีสายพันธุ์ที่ 1, 2, 3 หรือ 4 จึงมีการตรวจสอบสายพันธุกรรมเพิ่มเติม จึงคาดว่าน่าจะเป็นเชื้อไวรัสเดงกีสายพันธุ์ที่ 5 ส่วนพาหะของโรคคือยุงลายป่า และคาดว่าน่าจะมีการติดไปยังสัตว์ป่าที่เลี้ยงลูกด้วยนม อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยรายแรกนั้นสามารถรักษาหายได้ และพบว่าไม่มีการระบาดไปยังคนอื่นๆ ไม่มีผู้ป่วยรายใหม่ และไม่มีโรคจากป่าสู่เมืองแต่อย่างใด
“เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่ประเทศอินโดฯ แต่บทความเขียนโดยนักวิทยาศาสตร์ชาวอินเดีย และนับตั้งแต่วันนั้นก็ไม่มีบทความทางการแพทย์เกี่ยวกับเรื่องนี้ออกมาให้เห็นอีกเลย ซึ่งตามหลักการข้อพิสูจน์ทางการแพทย์ต้องมีบทความออกมามากมาย และอีกอย่างกรณีที่เกิดขึ้นก็อยู่ไกลถึงประเทศอินโดฯ และไม่มีรายงานผู้ป่วยอีก ดังนั้น ประเทศไทยจึงไม่ต้องกังวล ปัจจุบันมีเพียงเชื้อไวรัสเดงกี 4 สายพันธุ์เท่านั้น” นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าว
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่