กรมควบคุมโรคประกาศเตือน กทม. เมืองใหญ่ เฝ้าระวัง “ไข้เลือดออก” คาดเจอผูป่วยเพิ่ม 4 - 5 พันต่อสัปดาห์ ย้ำทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ แม้เป็นช่วงขาลงของการระบาด
วันนี้ (16 พ.ย.) นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค ออกประกาศการพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์ ฉบับที่ 33 วันที่ 16 - 22 พ.ย. 2558 เรื่อง “เตือนกรุงเทพฯและเมืองใหญ่ ระวังป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก” โดยระบุว่า การเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค พบว่า สถานการณ์ไข้เลือดออกทั่วประเทศ ตั้งแต่ 1 ม.ค.- 10 พ.ย. 2558 มีผู้ป่วยแล้ว 107,564 ราย เสียชีวิต 106 ราย กลุ่มอายุที่มีผู้ป่วยมากสุด คือ อายุ 15 - 24 ปี รองลงมาคืออายุ 10 - 14 ปี และอายุ 25 - 34 ปี ตามลำดับ ส่วน 5 จังหวัดแรกที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ ระยอง เพชรบุรี ราชบุรี อุทัยธานี และปราจีนบุรี
การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์นี้ คาดว่า จะมีผู้ป่วยไข้เลือดออกประมาณ 4,000 - 5,000 รายต่อสัปดาห์ เนื่องจากในหลายพื้นที่ยังคงมีฝนตก ทำให้น้ำขังตามแอ่งน้ำหรือภาชนะต่าง ๆ ทำให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของลูกน้ำยุงลาย โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ และตัวเมืองใหญ่ ๆ ที่มีแหล่งน้ำขังและภาชนะทิ้งไว้จำนวนมาก จึงขอแนะนำประชาชนให้ดูแลตนเองและบุตรหลานไม่ให้ถูกยุงลายกัด ช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในครัวเรือน ได้แก่ 1. เก็บบ้านให้สะอาด 2. เก็บน้ำและปิดฝาให้มิดชิด ไม่ให้ยุงลายลงไปวางไข่ และ 3. เก็บขยะเศษภาชนะรอบบ้านและในชุมชน
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดี คร. กล่าวว่า ขณะนี้ถือว่าเป็นช่วงขาลงของผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก โดยสัปดาห์ที่ผ่านมาพบผู้ป่วยรายใหม่ 2 - 4 พันราย ลดลงจากช่วงที่มีการระบาดรุนแรงจะมีผู้ป่วยรายใหม่อยู่ที่สัปดาห์ละ 7 พันคน ซึ่งจากนี้จะมีการจับตาสภาพอากาศยาวไปจนถึงปีหน้า เพราะปกติยุงจะไม่วางไข่ในอุณหภูมิต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส แต่ปีนี้หนาวช้า และหนาวน้อย จึงยังต้องมีการวิเคราะห์ พยากรณ์โรคอีกครั้งว่าในปีหน้าจะมีการระบาดอีกหรือไม่ โดยเฉพาะตามหัวเมืองใหญ่ เช่น กทม. เชียงใหม่ นครราชสีมา เป็นต้น เพราะมีคนเยอะ อยู่รวมกันหนาแน่น หากพบผู้ป่วยแล้วจะทำให้มีการระบาดเยอะ
“จากการถอดบทเรียนเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า ปัญหาการควบคุมการระบาดของโรคไข้เลือดออก คือ ผู้ปฏิบัติงานยังไม่มีความชำนาญ และประชาชนโดยเฉพาะในเมืองใหญ่อย่าง กทม. ไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่เข้าไปฉีดพ่นยาฆ่ายุงในบ้าน เพราะกลัวทรัพย์สินสูญหาย เรื่องนี้ก็ไม่เป็นไร ถ้าอย่างนั้นก็อยากจะฝาก 3 เก็บ คือ 1. เก็บบ้านตัวเอง โดยเฉพาะถาดรองน้ำตู้เย็น และแจกันดอกไม้ไหว้พระ เพราะเป็นส่วนที่คนไม่ค่อยนึกถึง 2. เก็บสิ่งแวดล้อม ขยะรอบ ๆ บ้าน ไม่ให้มีแหล่งน้ำขังเสี่ยงเป็นที่เพาะพันธุ์ยุงได้ และ 3. เก็บภาชนะบรรจุน้ำ ปิดฝาให้มิดชิด ที่สำคัญคือควรเปลี่ยนน้ำทุกสัปดาห์ หรือสังเกตว่ามีลูกน้ำยุงหรือเปล่าถ้ามีก็ขอทำลาย” นพ.โอภาส กล่าว
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่