xs
xsm
sm
md
lg

ถกแก้ปัญหายาเสพติดในโรงเรียน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศธ. ถกหลายหน่วยงานแก้ปัญหายาเสพติดในสถานศึกษา มีความคิดเห็นทิศทางเดียวกัน แบ่งสถานศึกษาเป็น 3 กลุ่ม แทนการเรียกกลุ่มเสี่ยง และเตรียมวางแผน กำหนดกิจกรรมเพื่อแก้ไขสุดท้ายเด็กคืนสถานศึกษา

วันนี้ (11 พ.ย.) พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า ได้เชิญสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และกระทรวงมหาดไทย (มท.) หารือเรื่องปัญหายาเสพติดในสถานศึกษา ซึ่งมียาบ้า รวมถึงบุหรี่ และสุราด้วย ทั้งนี้ จากการหารือได้ข้อสรุปว่าจะไม่เรียกว่าสถานศึกษากลุ่มเสี่ยง เช่นที่ผ่านมาอีก แต่จะแบ่งกลุ่มสถานศึกษาใหม่ ออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มที่ต้องสร้างภูมิคุ้มกัน ได้แก่ ระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น 2. กลุ่มเฝ้าระวังและป้องกัน ได้แก่ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย อาชีวศึกษาและอุดมศึกษา และ 3. กลุ่มบำบัดรักษา

“สถานศึกษากลุ่มเสี่ยงผมมองว่าใช้กับ ศธ. ไม่ได้และยังทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองตกใจ จึงควรต้องแบ่งกลุ่มใหม่ เพื่อวางแนวทางพร้อมทั้งกำหนดกิจกรรมให้เหมาะสมกับวัย เช่น กิจกรรมสร้างภูมิคุ้มกันเด็กเล็ก หรือกิจกรรมที่ทำกับกลุ่มเฝ้าระวังก็ต้องใช้คนละรูปแบบ จะทำแบบเดียวกันไม่ได้ ส่วนการบำบัดซึ่ง สธ. เป็นเจ้าภาพใหญ่ จะมีการหารือกับ ป.ป.ส. ถึงวิธีการบำบัดเพื่อให้เด็กได้กลับมาใช้ชีวิตในโรงเรียนได้ตามปกติและเหมือนเพื่อน ๆ” รมว.ศึกษาธิการ กล่าว

พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าวต่อว่า จากนี้ไปสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ต้องไปจัดทำข้อมูลเพื่อนำกลับมาเสนอภายในสัปดาห์หน้า ส่วน ป.ป.ส. จะให้ข้อมูลพื้นที่เสี่ยงที่มีการระบาดของปัญหายาเสพติดด้วย ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดแนวทางและกิจกรรม ที่สำคัญ ทุกกิจกรรมที่ต้องสะท้อนผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม แก้ไขปัญหาได้ตรงจุด และไม่ใช่แค่การดูแลเด็กเพียงในสถานศึกษาเท่านั้น แต่ควรเชื่อมโยงไปถึงพ่อแม่ ผู้ปกครอง และชุมชนด้วย เมื่อทำครบวงจรจะถือว่าเป็นการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า

ติดตาม Facebook Fanpage ของ "Quality of Life" ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น