xs
xsm
sm
md
lg

จวกสาวรับพิมพ์ฟันดารา ทำ “รีเทนเนอร์” ไม่ได้มาตรฐานอันตรายถึงตาย เสี่ยงฟันโยก เก ล้ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


จวกสาวรับทำรีเทนเนอร์ให้ดารา ทำผิด กม. กรมอนามัย ชี้ต้องทำโดยหมอฟัน เหตุช่วงพิมพ์ฟันอันตรายหากผสมน้ำยาไม่ได้สัดส่วน ระบุเหลวเกินไปเสี่ยงไหลลงคอทำสำลัก อุดตันหลอดลมถึงขั้นตาย เผย ทำรีเทนเนอร์ไม่ได้รูปกับฟัน ทำขากรรไกรมีปัญหา ส่งผลกระทบบดเคี้ยว ฟันโยก เก ล้ม

จากกรณีเฟซบุ๊กร้านรับจัดฟันแห่งหนึ่ง โพสต์ภาพโฆษณาผ่านแฟนเพจ ว่า ได้มาพิมพ์ฟันให้ ดาราสาว แพท ณปภา ถึงบ้าน เพื่อจัดทำเครื่องมือคงสภาพฟัน หรือรีเทนเนอร์ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ยึดฟันไม่ให้เคลื่อนที่หลังการจัดฟันเสร็จแล้ว และโพสต์ภาพใบจดทะเบียนพาณิชย์การผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์ทางทันตกรรม ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ เพราะเป็นการกระทำโดยไม่ใช่ทันตแพทย์ ซึ่งถือเป้นเรื่องที่ผิดกฎหมาย

วันนี้ (20 ต.ค.) ทพ.สุธา เจียรมณีโชติชัย รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า การทำฟันไม่ว่าจะเป็นหัตถการใดก็ตามต้องดำเนินการโดยทันตแพทย์ แต่ สธ. จะมีนักทันตาภิบาลที่ช่วยดูแลฟันให้ประชาชน แต่อนุญาตให้ทำได้เฉพาะใน รพ.รัฐ เท่านั้น ไม่อนุญาตให้ไปเปิดคลินิกเอกชน เพราะมีเพียงทันตแพทย์เท่านั้นที่เปิดคลินิกได้ มิเช่นนั้นจะถือว่าผิด พ.ร.บ. สถานพยาบาล พ.ศ. 2551 ซึ่งดูแลโดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) อย่างกรณีเปิดร้านทำฟันปลอมตามห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ ก็ถือผิดกฎหมาย แต่การบังคับใช้กฎหมายยังน้อยอยู่

ทพ.สุธา กล่าวว่า สำหรับการจัดทำรีเทรนเนอร์ต้องดำเนินการโดยทันตแพทย์ และอุปกรณ์ต้องสะอาด ผ่านการฆ่าเชื้อ ได้มาตรฐาน และปลอดภัย โดยหลังจากการถอดเหล็กจัดฟันแล้วจะต้องพิมพ์ปากหรือหล่อแบบฟันเพื่อทำรีเทนเนอร์ โดยอุปกรณ์หล่อจะมีลักษณะเป็นผง นำมาผสมกับน้ำ ซึ่งต้องได้สัดส่วนที่พอเหมาะ เพราะหากเหลวเกินไปจะทำให้ไหลลงคอ ซึ่งทำให้อาเจียนได้จนพิมพ์ปากไม่สำเร็จ หรืออาจสำลัก อุดหลอดลมจนเกิดอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต นอกจากนี้ ถ้าไม่ได้ทำโดยผู้เชี่ยวชาญอาจทำให้เกิดแผลในช่องปาก หากดูแลไม่ดีจนเกิดการติดเชื้อและเป็นแผลเน่า เหมือนกรณีมีเด็กวัยรุ่นไปดัดฟันแฟชั่นที่ร้านเถื่อน

หลังจากพิมพ์ปากและจัดทำรีเทนเนอร์เสร็จแล้ว ก็ต้องนำรีเทนเนอร์มาทดสอบกับแบบพิมพ์ฟันว่าได้รูปหรือไม่ เช่น ความสูง ต่ำ การสบฟัน การบีบรัดตัวฟัน พอเหมาะหรือไม่ เป็นต้น เพราะหากทำออกมาไม่ได้รูป เมื่อนำไปใส่กับฟันจริงจะทำให้เกิดปัญหา เช่น การสบฟันไม่ดีจะปวดกระดูกขากรรไกร และมีปัญหาการเคี้ยวอาหาร ยิ่งปล่อยไว้นานจะเกิดปัญหาเรื่องการทำงานของขากรรไกรแบบถาวร เวลาเคี้ยวอาหารจะมีเสียงดังกึกกักตลอดเวลา หรือหากบีบรัดตัวฟันมากเกินไปจะทำให้ฟันที่จัดไว้ดีแล้วเสียทรง โยก เก และล้มได้ หรืออาจจะทำให้เกิดการบาดเจ็บที่ฟัน ทั้งนี้ ไม่มีการเก็บสถิติว่าประชากรไทยมีปัญหาฟันเกมากน้อยเพียงใด แต่จะเห็นว่าขณะนี้มีผู้นิยมจัดฟันมากขึ้น” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตาม พ.ร.บ.วิชาชีพทันตกรรม พ.ศ. 2537 มาตรา 28 ห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งมิได้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ทำการประกอบวิชาชีพทันตกรรม หรือแสดงด้วยวิธีใด ๆ ให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้มีสิทธิประกอบวิชาชีพดังกล่าว โดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตฯ มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น