เครือข่ายลดอุบัติเหตุหนุน สตช. ยกเลิก “ด่านลอย” ปิดจุดอ่อนการบังคับใช้กฎหมาย หลัง ปชช. ร้องเรียนมาก ซุ่มตามมุมตึก เครื่องมือมีบ้าง ไม่มีบ้าง ชี้ดำเนินการต้องมีมาตรฐาน สร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน
วันนี้ (15 ต.ค.) นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) กล่าวถึงกรณีสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) มีคำสั่งให้ตำรวจจราจรทั่วประเทศยกเลิกด่านลอย โดยเสนอให้ติดตั้งกล้องวงจรปิดจับภาพผู้ฝ่าฝืนกฎจราจรและออกใบสั่งแทนการตั้งด่านให้เสร็จสิ้นใน 3 เดือน ว่า การยกเลิกด่านลอยเป็นการปิดจุดอ่อนกลไกกำกับดูแล เพราะการบังคับใช้กฎหมายซึ่งถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำหน้าที่ของตำรวจ ต้องทำให้ชัดเจนว่าออกแบบเพื่อป้องกันปราบปรามอาชญากรรมไว้อย่างไร มาตรฐานการทำงานเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนเป็นอย่างไร มีระเบียบ มีกฎเกณฑ์และขั้นตอนอย่างไร นี่คือ สิ่งที่ประชาชนสงสัย เนื่องจากเห็นการตั้งด่านซุ่มตามมุมตึก มีเจ้าหน้าที่ 1 - 2 คน เครื่องมือมีบ้าง ไม่มีบ้าง เลยกลายเป็นจุดที่ประชนขาดความเชื่อถือประกอบกับการที่มีเจ้าหน้าที่บางคนเอาไปแสดงหาผลประโยชน์ จึงเป็นจุดอ่อนที่ถูกร้องเรียน ถูกเรียกร้องให้แก้ไข
นายพรหมมินทร์ กล่าวว่า กระแสสังคมวันนี้ ต้องการเรื่องความโปร่งใส มืออาชีพ มาตรฐาน ความถูกต้อง การทำแบบลับ ๆ ล่อ ๆ แบบเดิมควรเลิก เพราะมีโอกาสเป็นข่าวดังได้ทุกเมื่อ นอกจากนี้ การทำงานของตำรวจต้องแก้ไขสิ่งที่ผิดกฎหมายให้เกิดความถูกต้องเกิดความยุติธรรม งานของตำรวจจึงจำเป็นต้องทำเป็นแบบอย่างแก่สังคม ความถูกต้อง หรือความยุติธรรมจึงต้องเริ่มจากองค์กรของตำรวจเอง ทั้งนี้ การพัฒนาระบบ วิธีการทำงาน เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อตอบคำถามเรื่องประสิทธิภาพ โลกสมัยใหม่ พูดถึงเรื่องผลลัพธ์และผลผลิตต้องมีประสิทธิภาพ หากทำแล้วไม่ประสบผลสำเร็จก็ต้องปรับเปลี่ยนหรือแก้ไขปรับปรุงให้มันดีขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การปฏิบัติงาน ณ ด่านตรวจ จุดตรวจ หรือ จุดสกัด จะต้องมีนายตำรวจชั้นสัญญาบัตร (ยศตั้งแต่ร้อยตำรวจตรีขึ้นไป) ประจำอย่างน้อย 1 คน เป็นหัวหน้าและต้องแต่งเครื่องแบบปฏิบัติหน้าที่ นอกจากนี้ ที่ด่านตรวจหรือจุดตรวจ จะต้องมีเครื่องหมายจราจรว่า “หยุด” หรือ “หยุดตรวจ” ส่วนในช่วงเวลากลางคืนจะต้องมีแสงไฟส่องสว่างให้มองเห็นได้อย่างชัดเจนในระยะไม่น้อยกว่า 150 เมตรก่อนถึงจุดตรวจ และเจ้าหน้าที่ต้องมีป้ายแสดงยศ ชื่อ นามสกุล และตำแหน่งของหัวหน้าตำรวจประจำจุดตรวจ โดยก่อนปฏิบัติหน้าที่ตำรวจสัญญาบัตรที่ควบคุมจะต้องประสานไปยังหน่วยงานใกล้เคียง โดยเฉพาะหน่วยที่มีเขตพื้นที่รับผิดชอบติดต่อกันเพื่อมิให้เกิดการตั้งจุดตรวจซ้ำซ้อน และต้องมีแผ่นป้ายแสดงข้อความให้แจ้งผู้บังคับการ พร้อมเบอร์โทรศัพท์ หากพบเจ้าหน้าที่ทุจริตหรือประพฤติมิชอบ ไม่น้อยกว่า 15 เมตรก่อนถึงจุดตรวจด้วย
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่