มรภ.สวนสุนันทา ลงโทษ นศ. 53 คน เซ่นคลิปรับน้องท่าเต้น “กล้วยทับ” ไม่เหมาะสม สั่งพักการเรียน 1 เทอม ภาคทัณฑ์ และตัดคะแนนความประพฤติ เร่งส่งอบรมปรับทัศนคติที่ค่ายทหาร 14 - 16 ก.ย. ด้านอาจารย์ที่ปรึกษา หัวหน้าสาขาโดนทัณฑ์บน ว่ากล่าวตักเตือนด้วย ยันไม่ห้ามรับน้อง ให้มีต่อไป แต่ขอสกรีนรายละเอียดทุกกิจกรรมก่อนจัด พร้อมชี้แจง นศ. ทุกชั้นปีจัดกิจกรรมให้เหมาะสม
วันนี้ (7 ก.ย.) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่โรงแรมวังสวนสุนันทา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ผศ.ดร.ไพบูลย์ แจ่มพงษ์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) สวนสุนันทา แถลงข่าวผลการสอบสวนวินัยนักศึกษากรณีคลิปรับน้องของนักศึกษาเอกภาพยนตร์ ภาคสมทบ สาขานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มรภ.สวนสุนันทา ในเพลง “กล้วยทับ” ซึ่งมีท่าเต้นไม่เหมาะสม จนเกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ว่า จากกรณีดังกล่าวในนามของมหาวิทยาลัยขอแสดงความเสียใจ และขอโทษต่อสังคมและศิษย์เก่า และขอเรียนให้ทราบว่ามหาวิทยาลัยไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้เร่งรีบดำเนินการสอบสวนหาข้อเท็จจริง เพื่อหาทางออกเหมาะสมอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งอย่างได้ข้อสรุปอย่างเป็นทางการ นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยจะหามาตรการเพิ่มเติมเพื่อควบคุมดูแลการจัดกิจกรรมนักศึกษาที่เหมาะสม สร้างสรรค์คุณค่าทั้งในตัวนักศึกษาและสังคม จะป้องปรามไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก
ผศ.ดร.ชนนาถ มีนะนันทน์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มรภ.สวนสุนันทา ในฐานะประธานกรรมการสอบสวนวินัยนักศึกษา กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในคลิปมีนักศึกษาที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 53 คน แบ่งตามความหนักเบาของการกระทำผิดเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. นักศึกษารุ่นพี่ปี 2 จำนวน 3 คน ที่มีเจตนากระทำพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดความรุนแรงและไม่เหมาะสมขึ้น รวมทั้งกระทำการโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความไม่สำนึกในการกระทำของตน จึงให้ลงโทษสถานหนัก คือ พักการเรียนเป็นเวลา 1 ภาคเรียน ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2558 พร้อมตัดคะแนนความประพฤติ 50 คะแนน 2. กลุ่มนักศึกษาปีที่ 1 ที่แสดงท่าทางไม่เหมาะสมในคลิป จำนวน 5 คน ซึ่งหนึ่งในนี้เป็นผู้ถ่ายคลิปด้วย คณะกรรมการลงความเห็นให้ลงโทษภาคทัณฑ์ พร้อมตัดคะแนนความประพฤติ 30 คะแนน และ 3. นักศึกษาคนอื่น ๆ ที่อยู่ในเหตุการณ์ จำนวน 45 คน ซึ่งยืนปรบมือร้องเพลงและเชียร์อยู่โดยรอบ ถือว่ามีเจตนายั่วยุให้เกิดการกระทำที่ไม่เหมาะสม จึงให้ตัดคะแนนความประพฤติ 20 คะแนน สำหรับอาจารย์ที่ปรึกษาและหัวหน้าสาขาวิชา คณะกรรมการเห็นว่าควรมีส่วนร่วมในความรับผิดชอบด้วย โดยเสนอต่อมหาวิทยาลัยให้ทำทัณฑ์บน และว่ากล่าวตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งขณะนี้ได้ส่งคำตัดสินดังกล่าวให้นิติกรของมหาวิทยาลัยดำเนินการตามขั้นตอนแล้ว
ผศ.ดร.ไพบูลย์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยมีมาตรการเยียวยาเพื่อปรับพฤติกรรมและทัศนคติของนักศึกษา นอกจากลงโทษทางวินัยที่คณะกรรมการสอบสวนดำเนินการแล้ว รศ.ดร.ฤๅเดช เกิดวิชัย อธิการบดี มรภ.สวนสุนันทา ตนในฐานะรองอธิการฯฝ่ายกิจการนักศึกษา และ ผศ.ดร.ประทีป วจรทองวัฒนา คณบดีคณะวิทยาการจัดการ ได้รับผิดชอบโดยบริจาคเงินประจำตำแหน่งในเดือนนี้ เพื่อเป็นทุนให้นักศึกษากลุ่มนี้ได้เข้าค่ายอบรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมวันที่ 14 - 16 ก.ย. นี้ โดยประสานไปยังค่ายพระมหาเจษฎาราชเจ้ากองพลนาวิกโยธิน อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี โดยมีคณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผอ.ร.ร.สาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา และกรรมการสมาคมศิษย์เก่า ร่วมกันบริจาคอีกคนละ 10,000 บาท
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีมาตรการควบคุมการรับน้องไม่เหมาะสมต่อไปอย่างไร ผศ.ดร.ไพบูลย กล่าวว่า การป้องกันการรับน้องไม่เหมาะสม มรภ.สวนสุนันทา ดำเนินการมาทุกปี ก็ดำเนินการตามกรอบโยบายที่รับมาจากกระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) โดยมีการประชุมชี้แจงคณบดีคณะต่าง ๆ สโมสรนักศึกษาคณะต่าง ๆ องค์การนักศึกษา นอกจากนี้ คณะและวิทยาลัยต่าง ๆ ก็ทำหนังสือกำชับแนวทางปฏิบัติการรับรับน้องให้เหมาะสมอย่างต่อเนื่องทุกปี ทั้งนี้ ปีการศึกษาหน้าที่จะมีการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับนักศึกษาใหม่ มห่วิทยาลัยคงต้องขอดูรายละเอียดแผนกิจกรรมการจัดรับน้องของแต่ละสาขา แต่ละคณะว่าจะดำเนินการอย่างไรบ้าง และมีกิจกรรมอะไร อาจารย์ท่านใดที่เป็นผู้รับผิดชอบ
เมื่อถามว่า มรภ.สวนสุนันทา ปรากฏข่าวรับน้องไม่เหมาะสมอย่างต่อเนื่องถึง 2 ปีติดกันแล้ว ทำให้สังคมจับจ้องอย่างมาก เป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีการห้ามกิจกรรมรับน้องไปก่อนในปีการศึกษาถัดไป ผศ.ดร.ไพบูลย์ กล่าวว่า ก็ถือเป็นแนวคิดที่ดี แต่ตนคิดว่าการทำกิจกรรมรับน้องยังเป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ต้องดำเนินการไปในทางที่สร้างสรรค์ เพราะอย่างปี 2557 ที่มีข่าวรุ่นพี่คณเทคโนโลยีอุตสาหกรรมใช้หยดน้ำตาเทียนใส่รุ่นน้อง นั่นก็เป็นกิจกรรมพิธีบายศรี ซึ่งกิจกรรมที่จัดเป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ถือเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่นอกเหนือความคาดหมาย อย่างปีนี้นักศึกษาคณะดังกล่าวก็ดำเนินกิจกรรมรับน้องที่เปลี่ยนออกไป เช่น พารุ่นน้องไปทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ดูแลความสะอาดมหาวิทยาลัย ซึ่งแนวทางเหล่านี้เป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยพยายามดำเนินการ
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการกำหนดเป็นมาตรการหรือระเบียบที่ชัดเจนหรือไม่ว่า กิจกรรมแบบใดที่ทำได้ หรือทำไม่ได้ในการรับน้อง ผศ.ดร.ไพบูลย์ กล่าวว่า คงต้องหารือพูดคุยกัน ซึ่งมหาวิทยาลัยเองก็กำหนดกรอบการรับน้องค่อนข้างชัดเจนแล้วว่าอะไรทำได้ ทำไม่ได้ แต่ก็อาจมีการกำหนดรายละเอียดที่ลึกลงไปมากขึ้น
ผู้สื่อข่าวถามว่าได้ชี้แจงนักศึกษาที่ถูกลงโทษแล้วหรือไม่ ผศ.ดร.ไพบูลย์ กล่าวว่า ขณะนี้สื่อต่าง ๆ นำเสนอในเรื่องนี้มาก ถ้าหากมีหูก็คงได้ยิน
เมื่อถามว่า นักศึกษาที่ถ่ายคลิปเหตุใดจึงถูกลงโทษทัณฑ์บนด้วย ผศ.ดร.ชนนาถ กล่าวว่า เรื่องนี้จะไม่เกิดหากไม่มีคนเต้น ไม่มีคนถ่ายคลิป และที่สำคัญ คือ ไม่มีการโพสต์คลิปออกไป ส่วนปีหน้าก็มีคนเสนอว่า การทำกิจกรรมรับน้องควรมีการเก็บโทรศัพท์มือถือก่อนหรือไม่ แต่ตนไม่ทราบว่าเมื่อถึงปีหน้านั้นรูปแบบของสื่อและการเผยแพร่จะมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ซึ่งอาจไม่ได้มีแต่เพียงโทรศัพท์มือถือเท่านั้นที่ใช้ในการบันทึกและเผยแพร่
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีดังกล่าวสะท้อนว่าเด็กยังใช้สื่อไปในทางที่ไม่ถูกต้อง จำเป็นต้องมีการเน้นการเรียนการสอนในเรื่องการเท่าทันสื่อหรือไม่ ผศ.ดร.ชนนาถ กล่าวว่า จริง ๆ แล้วในมหาวิทยาลัยก็มีการสอนวิชารู้เท่าทันสื่อเป็นวิชาพื้นฐานของทุกคณะ ไม่ใช่เพียงแต่นิเทศศาสตร์เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ได้เรียกหัวหน้านักศึกษาทุกชั้นปี ทุกคณะ และทุกสาขาวิชามาชี้แจงถึงการจัดกิจกรรมการรับน้อง ซึ่งภาพรวมก็พบว่ามีความเข้าใจดี
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่