xs
xsm
sm
md
lg

คาดได้ข้อสรุปโซนนิงร้านเหล้ารอบสถานศึกษาใน 6 เดือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

“หมอสมาน” คาดได้ข้อสรุปโซนนิงร้านเหล้ารอบสถานศึกษาไม่เกิน 6 เดือน อาจารย์ ม.หัวเฉียว จี้ รัฐเร่งสร้างระเบียบปฏิบัติให้ชัดเจน ให้สถานศึกษามีส่วนกำหนด เชื่อเกือบทุกมหาวิทยาลัย ยันร้านเหล้าห่าง 300 เมตร ขึ้นไป เผยผู้ประกอบการหัวหมอเลี่ยงคำสั่ง คสช. ด้าน “แม่ นศ.ม.รังสิต” หวั่นกฎหมายโซนนิงคุมร้านเหล้ารอบสถานศึกษายังไม่เป็นรูปธรรม วอนบิ๊กตู่ขยายคุมบ่อน - โต๊ะบอล

วันนี้ (17 ส.ค.) เมื่อเวลา 11.00 น. ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ นพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวในเวทีเสวนา “โซนนิงร้านเหล้ารอบมหาวิทยาลัย..อย่างไรให้ยั่งยืน” จัดโดยเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ และเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ ว่า คำสั่ง คสช. ในการควบคุมร้านจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รอบสถานศึกษา ไม่ใช่แค่เรื่องประชาสัมพันธ์ แต่มีโทษทั้งในส่วนของผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน เรียกได้ว่า ครบเครื่องทั้งทางแพ่ง อาญา และปกครอง อย่างไรก็ตาม คำสั่งดังกล่าวค่อนข้างกว้างในเรื่องของการระบุเจาะจงบริเวณต้องห้ามให้ชัดเจน เพียงแค่ระบุว่าห้ามไม่มีสถานที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใกล้สถานศึกษา หากมองในข้อดีคำสั่งดังกล่าวเราสามารถขยายขอบเขตข้ามไปตามบริบทแต่ละสถานศึกษา ที่จะกำหนดเขตควบคุมพื้นที่ แต่ก็มีความกังวลในความยั่งยืน

“จุดยืนของ สธ. ในเรื่องพื้นที่ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รอบสถานศึกษานี้ เราคงไม่สามารถใช้ดุลยพินิจตามอำเภอใจได้ ดังนั้น เราต้องยืนความตามมติคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ โดยยึดหลักห้ามขายรอบสถานศึกษารัศมี300 เมตร ซึ่งเราจะเร่งรัดหน่วยงานราชการ ที่เกี่ยวข้องให้ประสานลงไปยังทุกจังหวัด เพื่อให้เกิดการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมในทุกสถานศึกษาทั่วประเทศ โดยต้องได้ข้อสรุปในทุกจังหวัด อย่างช้าที่สุดไม่เกิน 6 เดือน พร้อมทั้งรายงานผลการปฏิบัติทุกสัปดาห์ เพื่อจะได้ประเมินผลการทำงานและปรับปรุงผลักดันให้เกิดกฎหมายในระบบปกติที่มีความมั่นคงยั่งยืนถาวรต่อไป” นพ.สมาน กล่าว

นางชิดชนก สิทธารถศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานักศึกษา ม.หัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า สถานการณ์ในพื้นที่ที่ปฏิบัติงานจริง ถึงแม้มีคำสั่ง คสช. ออกมา แต่ในทางปฏิบัติจริงสำหรับคนทำงาน ถือว่าลำบากพอสมควร เพราะยังไม่มีใครชี้ชัดว่าระยะแค่ไหนคือใกล้เคียงสถานศึกษา ที่สำคัญคือกลไกที่จะสร้างการมีส่วนร่วมต้องเป็นกฎระเบียบย่อย ๆ ตามมา เพื่อให้มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนสถานศึกษาต้องมีส่วนร่วม และส่วนตัวมองว่าตราบใดที่ยังไม่มีการประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงในราชกิจจานุเบกษา เพื่อมีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย บรรดาร้านเหล้าผับบาร์ทั้งหลายก็จะหาช่อง มีข้ออ้างหลบหลีกตั้งป้อม โดยตีความคำว่า ใกล้สถานศึกษา ว่าแค่ไหน ระยะเท่าไหร่ที่เรียกว่าใกล้ ตรงนี้การทำงานของเจ้าหน้าที่ก็จะลำบาก

“ในส่วนของ ม.หัวเฉียว เราควบคุมจากตัวเด็ก นั้นคือตัด50 แต้ม ซึ่งเห็นผลชัดเจนในการลดการเข้าร้านเหล้าผับบาร์ของนักศึกษา แต่ก็ไม่สามารถไปควบคุมสถานบริการที่อยู่รอบๆได้ ซึ่งก็อยากให้รัฐบาลเร่งรีบผลักดันกลไกย่อยรองรับคำสั่ง คสช. หรือทำให้ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีที่ค้างอยู่ออกมาเป็นกฎหมายมีผลบังคับใช้ ซึ่งน่าจะช่วยได้มาก” นางชิดชนก กล่าว

นางประจิม ชื่นใจ หรือแม่อุ มารดานักศึกษา ที่เสียชีวิตหน้าร้านเหล้าใกล้ ม.รังสิต กล่าวว่า รู้สึกกังวลว่าการออกกฎหมายที่ป้องกันร้านเหล้ารอบสถานศึกษา ในอนาคต จะกลายเป็นแค่ฝันค้าง เพราะคิดว่าเหล้า โดยเฉพาะกลุ่มทุนเหล้าเป็นผู้มีอิทธิพล การออกกฎหมายป้องกันในระยะยาวไม่ให้เยาวชนไปยุ่งเกี่ยวอาจถูกแรงกดดันมาก

“แม่กลัวว่ามันจะทำยาก และเกรงว่าอาจเป็นฝันค้าง เหล้ามันเป็นเรื่องของนายทุนที่มีอิทธิพล และมีผู้ที่เกี่ยวข้องจำนวนหนึ่ง ซึ่งหากจะทำเป็นกฎหมายก็ต้องอาศัยความเด็ดขาดมาก อย่างไรก็ตาม ในฐานะผู้ที่สูญเสียบุตรชาย หน้าร้านเหล้าใกล้มหาวิทยาลัย ก็ยังมีความหวัง ว่า รัฐบาลจะจริงจังมุ่งสู่การปฏิบัติ อย่างเข้มงวด อยากให้การสูญเสียของตนในครั้งนี้ได้ฝากอะไรให้กับสังคมนี้บ้าง อยากฝากถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ช่วยแก้ปัญหาเรื่องร้านเหล้ารอบสถานศึกษาให้สำเร็จและยั่งยืน และขอให้ช่วยจริงจังเรื่องบ่อนการพนัน โต๊ะบอล รอบสถานศึกษาด้วย ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะเบาบางไปมาก แต่ก็เกรงว่าทุกอย่างจะกลับมาเหมือนเดิมอีกถ้าไม่จัดการให้ยั่งยืน หากสามารถแก้ไขปัญหาทั้งสองเรื่องนี้ได้ ก็จะส่งผลดีต่ออนาคตของเยาวชนไทย ซึ่งต้องขอบคุณรัฐบาลด้วยที่สนใจปัญหาที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมานาน ทำลายอนาคตของลุกหลานเรามามากพอแล้ว” นางประจิม กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น