xs
xsm
sm
md
lg

อย.ชงตั้งองค์กรมหาชน “ตรวจประเมินผลิตภัณฑ์สุขภาพ” แก้ขึ้นทะเบียนยาช้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อย. เสนอตั้งองค์กรมหาชน “สถาบันตรวจและประเมินผลิตภัณฑ์สุขภาพ” ภายใต้สังกัด สธ. หวังแก้ปัญหาขึ้นทะเบียนล่าช้า ชี้ช่วยมีความคล่องตัว เก็บค่าประเมินจากผู้ประกอบการ และจ้างผู้เชี่ยวชาญเพิ่มได้

นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงกรณีการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สุขภาพล่าช้า โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ยา ว่า การขึ้นทะเบียนยาค่อนข้างใช้เวลานาน เนื่องจากมีผู้เชี่ยวชาญน้อย แต่ภาระงานมาก จึงจำเป็นต้องส่งให้กับผู้เชี่ยวชาญภายนอกร่วมในการศึกษาวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์แต่ละชนิด แต่มีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณที่จ่ายให้ตามหลักเกณฑ์ของกรมบัญชีกลาง เคสละประมาณ 2,000 บาท ในขณะที่ต้นทุนค่าใช้จ่ายสูงกว่านี้มาก โดยเฉพาะกรณีการตรวจวิเคราะห์ยาใหม่ที่ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญหลายสาขา และอย่างต่ำต้องใช้สาขาละ 2 คน ตรงนี้จึงไม่สามารถไปเร่งรัดได้มาก เพราะแต่ละคนก็มีภาระงานมาก จึงทำให้การขึ้นทะเบียนค่อนข้างล่าช้า งานค้างเยอะ ทำให้ผู้ประกอบการบ่นเพราะกระทบกับการทำธุรกิจ

นพ.บุญชัย กล่าวว่า ล่าสุด อย. ได้ทำข้อเสนอให้มีการตั้งสถาบันตรวจและประเมินผลิตภัณฑ์สุขภาพ (องค์กรมหาชน) ขึ้นมา อยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยมีผู้แทนหลายหน่วยงานเป็นคณะกรรมการ ทั้งนี้ เพื่อให้มีความคล่องตัวในการว่างจ้างพนักงาน ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อตรวจประเมินผลิตภัณฑ์สุขภาพ เบื้องต้นจะเน้นการตรวจคุณภาพมาตรฐานของยา และเครื่องมือแพทย์ก่อนจะขยายไปยังผลิตภัณฑ์ประเภทอื่น ๆ เพิ่มเติม และเมื่อทำการประเมินผลิตภัณฑ์เสร็จแล้วก็ส่งต่อให้กับ อย. เป็นผู้พิจารณาออกใบอนุญาตต่อไป ซึ่งตอนนี้ร่างดังกล่าวผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการระดับกระทรวงแล้ว อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) แต่จะสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์แวดล้อม เพราะตอนนี้รัฐบาลก็กำลังมีการทบทวนองค์กรมหาชนในภาพรวมของประเทศอยู่ จึงอาจจะเป็นจังหวะที่ไม่มีหลักประกันว่าจะสำเร็จหรือไม่ ส่วนตัวอยากให้สำเร็จเพราะโดยแนวคิดเป็นเรื่องที่ดี

มีหลายประเทศที่ใช้ระบบการแยกระบบการขึ้นทะเบียนออกมาในลักษณะแบบนี้ ทำให้มีความคล่องตัว สามารถจ้างผู้เชี่ยวชาญเพิ่มขึ้นได้ ให้พอดีกับภาระงานที่เพิ่มขึ้น สามารถเก็บค่าประเมินจากผู้ประกอบการได้ เป็นทุนสำหรับการตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ได้ ตรงนี้มีหลายส่วนเห็นด้วยเพราะสามารถกำหนดระยะเวลาในการดำเนินการชัดเจน” เลขาธิการ อย. กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น