xs
xsm
sm
md
lg

หมอเด็กยันใช้แฟลชถ่ายรูป “ทารกแรกเกิด” ไม่ทำตาบอด แต่จอภาพอาจถูกทำลาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กุมารแพทย์ยันใช้แฟลชถ่ายรูปทารกแรกเกิด ไม่ทำให้ตาบอด แต่รับมีผลกระทบต่อเด็กทารก เหตุจอภาพกำลังสร้างและพัฒนา แถมไวต่อแสง เสี่ยงถูกแสงแฟลชเผาทำลายได้

ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา ในฐานะประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีข่าวพ่อแม่ใช้กล้องถ่ายรูปถ่ายทารกในระยะใกล้ และลืมปิดแฟลช ทำให้ทารกวัย 3 เดือน ต้องสูญเสียการมองเห็น หรือตาบอด ว่า คงไม่ถึงขั้นนั้น ยืนยันว่า เด็กแรกเกิดโดนแฟลชเพียงครั้งเดียวไม่น่าถึงขั้นตาบอด เพราะตามสัญชาตญาณของเด็ก หากแสงเข้าตา เด็กก็จะหลับตาอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่ตาบอด ก็อาจเกิดผลกระทบได้ หรือหากเปิดแฟลชใส่ตาทารกมาก ๆ ก็อาจเกิดปัญหาได้เช่นกัน เนื่องจากเด็กแรกเกิดกำลังสร้างจอเรตินา และเซลล์ปรับปรุงจอภาพกำลังสร้างการรับแฟลช หรือแสงสว่างมาก ๆ ก็อาจถูกแสงเผาจอรับภาพได้ เพราะตาก็เด็กแรกเกิดเป็นช่วงที่กำลังไวต่อการรับแสง

เด็กแรกเกิดไม่ได้มองเห็นภาพชัดเจนเลย เห็นเพียงขาวดำเท่านั้น ส่วนภาพที่เป็นสีกว่าจะเห็นได้ก็ต้องใช้ระยะเวลาเป็นเดือน ส่วนภาพ 2 มิติ หรือ 3 มิติ ก็ใช้เวลา 2 - 3 เดือน ดังนั้น ช่วงแรกเกิดตาเด็กจึงไวต่อแสง เพราะมีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา แต่การถูกแฟลชครั้งเดียวไม่ถึงขั้นตาบอด เหมือนกรณีการมองแสงพระอาทิตย์ที่มองแวบเดียว คงไม่ถึงขั้นตาบอด แต่ถ้ามองพระอาทิตย์นาน ๆ ก็ตาบอดได้ นอกจากนี้ เด็กทารกแรกเกิดถ้าเราปิดตาเด็กไว้ 3 เดือน โดยไม่ให้เห็นแสงเลย อยู่แต่ในความมืด ทารกก็จะตาบอดได้เช่นกัน แต่ก็ต้องใช้เวลา” ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ กล่าว

ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า อยากเตือนพ่อแม่ผู้ปกครอง ว่า หากต้องการถ่ายรูปของบุตร ก็ควรระมัดระวังให้มาก และถ้าเลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยงการเปิดแฟลชถ่ายรูปทารกแรกเกิด เนื่องจากม่านตาเด็กจะขยาย ดังนั้น จึงไม่ควรเปิดแฟลช หรือยิงแฟลชเข้าตาทารกแรกเกิดโดยตรง เด็กก็เหมือนกับประชาชนทั่วไปที่ไม่ต้องการรับแสงแฟลช เพราะหากถูกแสงมาก ตาก็จะได้รับผลกระทบเหมือนกัน ซึ่งแฟลชจะมีผลกระทบกับทารกแรกเกิดมากกว่าในผู้ใหญ่ ทั้งทางตรงและทางอ้อม เพราะจอภาพกำลังสร้าง

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่




กำลังโหลดความคิดเห็น