xs
xsm
sm
md
lg

เปิดเทอมแรก 58 ป.1 “อ่าน-เขียนไม่ได้” 11% ห่วง ร.ร.ประถมเรียนช้าเพิ่มขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สพฐ. สำรวจช่วงเปิดเทอมแรกปี 2558 พบ ป.1 อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ 11% ป.2 พบ 8% และ ป.3 พบ 5% ขณะที่ผลสุ่มตัวอย่าง ร.ร.ประถมพบเรียนช้าเพิ่มมากขึ้น เร่งแก้ปัญหาหลายแนวทาง เชื่อสัดส่วนลดลง

วันนี้ (20 ก.ค.) นางศกุนตลา สุขสมัย รอง ผอ.สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวถึงปัญหากรณีเด็กประถมศึกษาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ว่า จากการสำรวจข้อมูลล่าสุดเมื่อตอนเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2558 พบว่า นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ยังคงมีปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ 11% ขณะที่เด็ก ป.2 ปัญหาลดลงเหลือประมาณ 8% และเด็ก ป.3 มีอยู่ประมาณ 5% ซึ่งปัญหาดังกล่าวมักพบในโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ห่างไกลมากกว่าโรงเรียนขนาดใหญ่ในตัวเมือง ซึ่งเกิดขึ้นจากหลายตัวปัจจัย ทั้งตัวเด็กนักเรียนเอง เช่น ชาวเขาที่เด็กไม่ได้พูดภาษาไทยเมื่ออยู่บ้าน หรือการย้ายถิ่นฐานตามพ่อแม่ ทำให้ต้องหยุดเรียนกลางคัน หรือเด็กที่มีปัญหาพัฒนาการล่าช้าจากพ่อแม่วัยรุ่น ปัญหาจากครูที่มีจำนวนน้อย เพราะไม่ค่อยมีใครอยากมาบรรจุในพื้นที่ห่างไกล ทำให้ต้องสอนควบ และไม่ได้มีครูสอนภาษาไทยโดยเฉพาะ สำหรับเด็กในเมืองก็พบว่าที่ผ่านมามีบางโรงเรียนที่สอนเรื่องการอ่านการเขียนที่ไม่เหมือนกัน เช่น การสอนอ่านเขียนแบบเป็นคำ ๆ ไม่ได้สอนอ่านเขียนแบบแจกลูกสะกดคำ ซึ่งทำให้เมื่อเจอบางคำที่รูปแบบเปลี่ยนไปก็ไม่สามารถอ่านหรือสะกดออกมาได้อย่างถูกต้อง

นางศกุนตลา กล่าวว่า การแก้ปัญหาในพื้นที่ห่างไกลก็พยายามให้มีการบรรจุครู ซึ่งขณะนี้ก็ยังมีตำแหน่งอยู่ รวมไปถึงการสอนผ่านทางไกล สำหรับรูปแบบการสอนภาษาไทยที่ต่างกันนั้น สพฐ. ได้ทำแบบเรียนเร็วใหม่สำหรับนักเรียนชั้น ป.1 - 3 ซึ่งจะสอนภาษาไทยในรูปแบบการแจกลูกสะกดคำให้แก่โรงเรียนต่าง ๆ ใช้เป็นแนวทางในการสอนขั้นพื้นฐาน เพราะเป็นวิธีที่ดีที่ช่วยให้เด็กสะกดคำได้ แต่การเรียนการสอนไม่มีวิธีไหนที่ดีที่สุด ขึ้นอยู่กับครูเป็นผู้ประเมินวิเคราะห์ด้วยว่า การเรียนการสอนแบบใดที่เหมาะสมกับเด็ก ก็อาจเลือกวิธีการสอนที่แตกต่างกันออกไปสำหรับเด็กได้ ซึ่ง สพฐ. ก็ได้ให้ศึกษานิเทศก์ในแต่ละเขตพื้นที่ลงไปตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง ว่า โรงเรียนแต่ละแห่งมีการสอนภาษาไทยเป็นอย่างไรบ้าง

จากการสุ่มตัวอย่างโรงเรียนประถมศึกษา พบว่า เด็กเรียนช้าเพิ่มมากขึ้น อย่างที่บอกว่าเกิดจากการย้ายที่เรียน รวมไปถึงพัฒนาการล่าช้าของเด็กด้วย ทำให้การเรียนการสอนในห้องถูกฉุดรั้งไปด้วย เพราะครูไม่สามารถสอนกลุ่มหนึ่งที่รู้เรื่องแล้วปล่อยอีกกลุ่มหนึ่งไปได้ อย่างไรก็ตาม จากการดำเนินการแก้ปัญหาของ สพฐ. รวมไปถึงความร่วมมือกับ สกอ. และ สสส. ในโครงการ Gen A พลังอ่านเปลี่ยนเมือง โดยให้นักศึกษาเข้ามาทำจิตอาสาในรูปแบบพี่สอนน้องอ่านเขียนหนังสือ ก็เชื่อว่าน่าจะช่วยให้ปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ของเด็กดีขึ้น ซึ่งจะมีการประเมินการอ่านออกเขียนไม่ได้ของเด็กอีกครั้งเมื่อสิ้นปีการศึกษาคือ มี.ค. 2559 ตามนโยบายนายกฯ ที่จะทำให้ประเทศไทยปลอดการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้” นางศกุนตลา กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น