xs
xsm
sm
md
lg

ร้านเหล้าผุดรอบมหา'ลัยเพิ่ม 72% “มธบ.-มทร.กรุงเทพ-ลาดกระบัง” พบมากสุด งัดทุกกลยุทธ์สูบเงิน นศ.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ผศ.ดร.ภัทรภร พลพนาธรรม
ศึกษาพบร้านเหล้ารอบมหา'ลัย ขยายตัวเพิ่มขึ้น 72% พบ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ ร้านเหล้าเพิ่มขึ้น 125% ราชมงคลกรุงเทพ 119% ลาดกระบัง 118% ขณะที่ร้านเหล้ายอมรับงัดทุกกลยุทธ์สูบเงิน นศ. สร้างเครือข่ายโหมโฆษณาแบบไม่เสียเงิน ฟันกำไรงามๆ เสนอรัฐออก กม. โซนนิงควบคุม

วันนี้ (10 มิ.ย.) ที่โรงแรมแมนดาริน สามย่าน ผศ.ดร.ภัทรภร พลพนาธรรม อาจารย์คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) สวนสุนันทา กล่าวในเวทีเสวนา “ทำไมต้องควบคุมร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รอบสถานศึกษา” จัดโดยศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) ว่า จากการวิจัย “การกระจายตัวของจุดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รอบมหาวิทยาลัยใน กทม. และปริมณฑล” เมื่อปี 2557 ในรัศมี 500 เมตร จากรั้วสถาบันจำนวน 15 แห่ง ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มรภ.สวนดุสิต มรภ.สวนสุนันทา มรภ.บ้านสมเด็จเจ้าพระยา มรภ.ธนบุรี มรภ.จันทรเกษม ม.ศรีนครินทรวิโรฒ (ประสานมิตร) ม.หอการค้าไทย ม.เทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ม.รามคำแหง ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ ม.เกษตรศาสตร์ ม.รังสิต ม.ธรรมศาสตร์ (รังสิต) ม.หัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ม.มหิดล (ศาลายา) และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พบว่า มีทั้งสิ้น 2,869 ร้าน เมื่อเปรียบเทียบเฉพาะ 11 พื้นที่ที่เคยสำรวจเมื่อปี 2552 พบว่า ในระยะเวลา 5 ปี มีจุดจำหน่ายเพิ่มขึ้น 1,036 ร้าน จาก 1,448 ร้าน ในปี 2552 เป็น 2,484 ร้าน ในปี 2557 หรือคิดเป็น 72% โดย ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ เป็นพื้นที่ที่มีร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นมากที่สุด คือ 125% รองลงมาคือ ม.เทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ 119% และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง 118% ทั้งนี้ เมื่อโฟกัสไปที่สถานบันเทิงมีเพิ่มขึ้นถึง 12% ในส่วนของหอพักยังมีการขายมากถึง 7% ซึ่งผิดกฎหมายชัดเจน

น.ส.กนิษฐา ไทยกล้า อาจารย์สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ ม.เชียงใหม่ กล่าวว่า จากการศึกษาจุดจำหน่ายและการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีผลต่อพฤติกรรมการดื่มของเยาวชน ในเชียงใหม่ เปรียบเทียบระหว่าง ปี 2557 กับ ปี 2552 และ 2554 พบว่า จุดจำหน่ายปี 2554 ลดน้อยลง เนื่องจากมีการบังคับใช้กฎหมาย มีการจัดโซนนิงอย่างจริงจัง แต่พอการบังคับใช้กฎหมายลดลง ประกอบกับความง่ายในการขอใบอนุญาตจำหน่าย ส่งผลให้ปี 2557 จุดจำหน่ายเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่อยู่ในระยะ 300 เมตรรอบสถานศึกษา ที่น่าสนใจคือ มีการปรับระบบจำหน่าย จากขายส่งมาเป็นขายปลีกบ้าง โดยมีโต๊ะให้ลูกค้านั่งพักชั่วคราว 1 - 2 โต๊ะ ปรับขยายฐานลูกค้าปลีก โดยการเพิ่มโต๊ะ มีแก้วและน้ำแข็งฟรีไว้คอยบริการ และมีพนักงานส่งเสริมการขาย นอกจากนั้น ร้านนม ร้านกาแฟ ร้านเบเกอรีจำนวนหนึ่ง มีการแช่เบียร์ไว้ในตู้แช่ ในช่วงเย็นก็จะกลายเป็นจุดจำหน่ายแบบมีที่นั่งดื่ม

น.ส.เบญจพร บัวสำลี อาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์และสวัสดิการสังคม ม.หัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า ปัญหาร้านเหล้ารอบมหาวิทยาลัย คือ การปล่อยปละละเลย ไม่ควบคุมดูแล ส่งผลต่อการกระตุ้นพฤติกรรมของนักศึกษาให้เข้าใช้บริการเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ร้านเหล้ายังนิยมใช้กลยุทธ์ต่างๆ ทั้งโฆษณาป้าย จัดโปรโมชัน ลดแลกแจกแถม สร้างกลุ่มตามสื่อโซเชียลดึงดูดนักศึกษาให้ช่วยแชร์ช่วยบอกต่อโดยไม่เสียค่าโฆษณา สร้างเครือข่ายเพื่อนบอกเพื่อน รุ่นพี่บอกรุ่นน้อง สร้างพนักงานขายนุ่งน้อยห่มน้อย ดึงศิลปินดารามาแสดง ลงทุนครั้งเดียวได้ 2 ต่อ โดยสร้างนักศึกษาหรือ คนในชุมชนเป็นภาคี เพื่อเป็นเกราะป้องกันหากร้านเกิดปัญหา ซึ่งจากการลงพื้นที่สอบถามเจ้าของธุรกิจเขายอมรับว่า เน้นลูกค้าให้ได้จำนวนมากเป็นหลัก ทำทุกทางให้ลูกค้ารู้จักร้าน ส่วนผลกำไรจะตามมาเอง จึงไม่แปลกที่ร้านเหล้ากลายเป็นช่องทางเพิ่มนักดื่มหน้าใหม่ มีวิธีเอาเปรียบสังคมใช้กลยุทธ์ต่างๆ หรือทำผิดกฎหมาย

ด้าน ดร.นพพล วิทย์วรพงศ์ ผอ.ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา กล่าวว่า การดื่มสุราของเยาวชนก่อให้เกิดผลกระทบ ทั้งผลการเรียนตกต่ำ ทะเลาะวิวาท มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ตั้งใจ เมาแล้วขับรถจนเกิดอุบัติเหตุ สุขภาพ ความสัมพันธ์ในครอบครัว และการกระทำผิดกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่และออกกฎหมายใหม่ถือเป็นสิ่งจำเป็น โดยจะช่วยลดปัญหาการดื่มของเยาวชนได้ คือ การไม่อนุญาตให้ร้านค้ารอบสถานศึกษาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เริ่มจากรัศมีในระดับมหาวิทยาลัยก่อน และค่อยขยายสู่สถานศึกษาระดับอื่น

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น