แฉ! เล่ห์ขายเครื่องกรองน้ำดื่ม ใช้ค่าทีดีเอสหลอกประชาชน น้ำสะอาดต้องมีค่าทีดีเอสต่ำกว่า 50 ppm สถาบันโภชนาการชี้เป็นกลโกง เพราะไม่ได้วัดความสะอาดของน้ำ แต่วัดประสิทธิภาพการกรองน้ำด้วยระบบอาร์โอ
รศ.วิสิฐ จะวะสิต ผู้อำนวยการสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงกรณีผู้จำหน่ายเครื่องกรองน้ำดื่มระบุน้ำบริโภคที่จำหน่ายในท้องตลาด มีการปนเปื้อน และนำเครื่องวัดปริมาณของแข็งที่ละลายในน้ำ หรือ ค่าทีดีเอส ตรวจสอบน้ำบริโภคที่จำหน่ายในท้องตลาดโดยอ้างว่าน้ำที่สะอาดจนบริโภคได้จะต้องมีค่า TDS ต่ำกว่า 50 พีพีเอ็มจึงจะปลอดภัย ว่า วิธีดังกล่าวถือเป็นกลโกงหนึ่งของผู้ที่ต้องการจำหน่ายเครื่องกรองน้ำระบบรีเวิร์ดออสโมซิส (อาร์โอ) ซึ่งค่า TDS มิใช่ตัวชี้วัดความสะอาดของน้ำ หากแต่เป็นตัวชี้วัดของประสิทธิภาพการกรองของระบบอาร์โอเท่านั้น ซึ่งไม่สามารถนำมาใช้ตัดสินคุณภาพของน้ำที่ผ่านการกรองด้วยระบบอื่น
"เครื่องมือ TDS ไม่ใช่ตัวชี้วัดความสะอาดหรือความปลอดภัยของน้ำบริโภค ดังนั้น เมื่อนำเครื่อง TDS ไปวัดในน้ำที่ผ่านการกรองด้วยระบบอาร์โอ จะมีค่า TDS ที่ต่ำมาก เมื่อเปรียบเทียบกับค่าที่วัดได้จากน้ำที่กรองด้วยกระบวนการทำน้ำอ่อน โดยไม่มีความสัมพันธ์ใดๆ กับความปลอดภัยของน้ำนั้นๆ ในทางตรงข้าม ค่า TDS ที่วัดได้ อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดกับผู้ที่ไม่มีความรู้ในเรื่องการกรองน้ำได้" ผอ.สถาบันโภชนาการ กล่าว
รศ.วิสิฐ กล่าวว่า ปัจจุบันน้ำดื่มบรรจุในภาชนะปิดสนิทที่จำหน่ายในประเทศไทย มีกรรมวิธีการผลิต 2 ระบบ ระบบแรกเรียกว่า “น้ำอ่อน” เป็นการกรอง ที่ดึงเอา เหล็ก กลิ่น สี คลอรีน และความกระด้าง ออกจากน้ำ แล้วไปผ่านการฆ่าเชื้อโรคด้วย ยูวี หรือ/และโอโซน ดังนั้น น้ำชนิดนี้จะยังคงมีแร่ธาตุที่ไม่เป็นอันตรายหลงเหลืออยู่บ้าง การวัดค่า TDS ในน้ำดื่มประเภทนี้จึงพบค่าใกล้กับที่พบในน้ำดิบ โดยไม่มีอันตราย ระบบที่สองคือ “อาร์โอ”หรือ รีเวิร์สออสโมซิส (RO: Reverse osmosis) ระบบนี้กรองแร่ธาตุ สารต่างๆ และจุลินทรีย์ ออกจนหมด น้ำอาร์โอ จึงแทบไม่มีแร่ธาตุอยู่เลย ค่า TDS ที่วัดได้จึงต่ำมาก เมื่อเปรียบเทียบกับน้ำที่ผ่านการกรองจากระบบน้ำอ่อน
รศ.วิสิฐ กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังพบว่า มีอุปกรณ์อีกชนิดที่ผู้ขายเครื่องกรองน้ำมักนิยมนำมาสาธิตเพื่อโน้มน้าวถึงประสิทธิภาพของเครื่องกรองน้ำ คือ การใช้แท่งโลหะ 2 แท่ง คือ เหล็กและอลูมิเนียม ต่อเข้ากับไฟฟ้าบ้าน จุ่มลงในน้ำดื่ม ซึ่งออกซิเจนจะทำปฏิกิริยากับเหล็ก จนเกิดเป็นตะกอนสีสนิมเหล็ก ซึ่งเป็นเรื่องปกติ ธาตุที่มีประจุทุกชนิดที่ละลายอยู่ในน้ำจะแสดงปฏิกิริยาดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นธาตุที่ก่ออันตรายกับผู้บริโภคหรือไม่ก็ตาม อุปกรณ์นี้จึงไม่เหมาะในการใช้ตรวจคุณภาพของนํ้าดื่มเช่นกัน จึงอยากขอเตือนประชาชน ไม่ให้หลงเชื่อวิธีการทดลองดังกล่าว ทั้งนี้ มาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่อ้างอิงตามมาตรฐานสากล ได้ครอบคลุมเพียงพอในการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภคอยู่แล้ว
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่