xs
xsm
sm
md
lg

รัฐควรขาดทุนเรื่องเงิน เพื่อสร้างกำไรทางปัญญาให้คน /สรวง สิทธิสมาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ฉบับนี้เป็นตอนที่สองขออนุญาตนำข้อเขียนของลูกชายคนโตวัย 17 ปี ชื่อ ต้นน้ำ หรือ สรวง สิทธิสมาน มาเผยแพร่ต่อเนื่องอีกครั้ง เนื่องจากเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเขาได้ถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับพื้นที่สาธารณะ และครั้งนี้เป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ ซึ่งเราอยู่ด้วยกันที่สหรัฐอเมริกา และได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์สมิทโซเนี่ยนที่ วอชิงตัน ดี.ซี. ภายหลังจากเยี่ยมชมตลอดสองวัน ทำให้เราได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน และลองให้เขาได้ถ่ายทอดต่อเนื่องจากฉบับที่แล้ว

ที่ผ่านมา เสียงจากผู้ใหญ่มากมายที่ต้องการสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของแหล่งการเรียนรู้ที่ดีในบ้านเราอาจไม่ดังพอ อยากลองให้ฟังเสียงจากเยาวชนดูบ้างค่ะ

หลังจากที่ผมได้มีโอกาสไปสวนสาธารณะที่เมืองซีแอตเติล ประเทศสหรัฐอเมริกาแล้ว ผมได้มีโอกาสเปิดหูเปิดตาอีกหลายแห่ง และที่ผมชอบอีกแห่งก็คือเมืองวอชิงตัน ดี.ซี. ซึ่งผมก็โชคดีอีกแล้วที่ได้มีโอกาสพบกับป้าติ๋ว และ ลุงธัช เพื่อนคุณพ่อคุณแม่ ซึ่งใจดีมากพาผมเดินเที่ยวชมในย่านสำคัญๆ อย่างทำเนียบขาว เดินดูในส่วนของสงครามเกาหลีและเวียดนาม สงครามโลกครั้งที่สอง และเดินไปที่อนุสาวรีย์ อับราฮัม ลินคอล์น ประธานาธิบดีคนที่ 16 ของสหรัฐอเมริกา ทำให้ผมได้รู้ว่า อับราฮัม ลินคอล์น คือ บุคคลสำคัญผู้รวมชาติอเมริกาจากสงครามใหญ่กลางเมืองสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นสงครามระหว่างฝ่ายรัฐบาลทางเหนือ และรัฐที่มีทาสทางใต้11รัฐที่ประกาศแยกตัวจากประเทศสหรัฐอเมริกา จากนั้นป้าติ๋วก็พาผมเดินไปดูที่อนุสาวรีย์ของ โทมัส เจเฟอร์สัน ประธานาธิบดีคนที่ 3 ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นคนเขียนรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา และอีกบุคคลหนึ่งที่ลืมไม่ได้ ประธานาธิบดีคนแรก ผู้สร้างชาติอเมริกา จอร์จ วอชิงตัน ถ้าไม่มีเขาก็ไม่มีอเมริกาในทุกวันนี้

นอกจากนี้ ผมได้ไปเยี่ยมชมในส่วนของพิพิธภัณฑ์สมิทโซเนี่ยน (Smithsonian) ซึ่งเป็นโซนของพิพิธภัณฑ์หลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น National History Museum (พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์มนุษยชาติ), America History Museum (พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์อเมริกา) , Air & Space Museum (พิพิธภัณฑ์เครื่องบินและอวกาศ), American Indian Museum (ชนเผ่าพื้นเมืองในอเมริกา) และอื่นๆ อีกมากมายในโซนสมิทโซเนี่ยน ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบริเวณทำเนียบขาว และทำให้ผมได้เห็นความยิ่งใหญ่ในช่วงของประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา ซึ่งกว่าจะมาถึงจุดนี้ได้นั้นมีเรื่องราวมากมายเกิดขึ้นบนแผ่นดินของเขา

พิพิธภัณฑ์สมิทโซเนี่ยนนั้น ทำได้ยอดเยี่ยมและกว้างใหญ่มาก ถึงขนาดว่า ถ้าใครมาด้วยความสนใจในเรื่องพิพิธภัณฑ์ที่เขานำเสนอนั้น เดินดูทั้งวันก็ยังไม่พอ

ในพิพิธภัณฑ์มีการนำเสนอที่น่าสนใจทั้งรูปแบบการนำเสนอเป็นภาพยนตร์สามมิติ การสร้างโมเดลจำลองขนาดใหญ่ หรือใช้โบราณวัตถุซึ่งเป็นของจริงมานำเสนอน่าสนใจมาก โดยส่วนใหญ่มีการอนุญาติให้สามารถสัมผัสจับต้องสิ่งของเหล่านั้นได้ และที่สำคัญ ทุกๆ พิพิธภัณฑ์ในโซนสมิทโซเนี่ยนนั้นให้นักท่องเที่ยวเข้าชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น พูดง่ายๆ ก็คือ “เข้าฟรี” และอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้มีทั้งคนในชาติและนักท่องเที่ยวมากมายเข้ามาเยี่ยมชมในพิพิธภัณฑ์

ผมเห็นครอบครัวจำนวนมาก พ่อแม่พาลูกนัอยมาชมพิพิธภัณฑ์ เด็กๆ เหล่านั้นตื่นตาตื่นใจมากกับการชมพิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่ นั่นทำให้เกิดการเรียนรู้ซึ่งสำคัญมากสำหรับเด็กๆ เมื่อพวกเขาโตขึ้นมาก็จะสามารถต่อยอดความรู้เหล่านั้นได้ ทางภาครัฐจึงให้ความสนใจในการลงทุนในส่วนของการสร้างพิพิธภัณฑ์ เนื่องจากสถานที่เหล่านี้ก่อให้เกิดการเรียนรู้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างคน และคนก็สร้างชาติ สหรัฐอเมริกาถึงได้พัฒนาจนมาถึงจุดที่เรียกว่าเจริญแล้ว

มันทำให้ผมคิดย้อนกลับมาเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ที่ประเทศไทยบ้านเราซึ่งไม่ใช่ว่าไม่มีดีเลย จริงๆ แล้วในบ้านเราก็มีพิพิธภัณฑ์ดีๆ มากมาย แต่กลับไม่ใช่สิ่งที่คนสนใจ ผมก็สงสัยว่าทำไมพิพิธภัณฑ์ดีๆ ถึงไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร หรือพิพิธภัณฑ์บ้านเราไม่ดีพอ ผมคิดว่าพิพิธภัณฑ์อย่างเช่น ท้องฟ้าจำลอง พิพิธภัณฑ์เด็ก พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ ล้วนเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ดี เวลาที่ผมได้ไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์บ้านเรามักจะเห็นแต่กลุ่มเด็กนักเรียนที่มาทัศนศึกษากับโรงเรียนซึ่งไม่ได้มีความสนใจจริงๆ ผู้ที่พอจะได้ความรู้กลับไปบ้างคือคนที่มายืนอยู่ข้างหน้าและตั้งใจฟังที่วิทยากรอธิบาย ส่วนด้านหลังก็จะไม่สนใจ คุยกันเสียงดังไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย ซึ่งแตกต่างจากทางสหรัฐอเมริกาเพราะส่วนใหญคนที่มาชมพิพิธภัณฑ์ คือ พ่อแม่ที่พาลูกมาด้วยความที่อยากให้ลูกได้มาเรียนรู้จริงๆ พอย้อนกลับไป พิพิธภัณฑ์บ้านเรากลับมีครอบครัวที่พาลูกๆมาดูพิพิธภัณฑ์น้อยมากเมื่อเทียบกับทางสหรัฐอเมริกา

บางพิพิธภัณฑ์ในบ้านเราก่อตั้งขึ้นมาโดยใช้ของเก่ามาตั้งเรียงกันบนตู้ เเละเก็บค่าเข้าชม และใช้คำว่าพิพิธภัณฑ์นำหน้าชื่อบนป้าย บางครั้งที่ผมได้เข้าไปเยี่ยมชมก็เกิดความคิดว่า นี่ใช่พิพิธภัณฑ์หรือ ถ้าอย่างนั้นผมก็เคยสะสมหัวโขนรามเกียรติตอนเด็กๆ จำนวนมาก หากผมแค่นำมาตั้งเรียงกันบนตู้สำหรับโชว์ของ ผมก็สามารถเปิดพิพิธภัณฑ์ได้แล้วใช่ไหม

เมื่อเทียบกับพิพิธภัณฑ์สมิทโซเนี่ยนในเมืองวอชิงตัน ดี.ซี. นั้น ถือว่าประเทศไทยขาดการลงทุนจากภาครัฐในด้านนี้ พิพิธภัณฑ์และแหล่งการเรียนรู้กลับเป็นเรื่องที่ถูกมองข้ามไป นับเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย ทางภาครัฐควรจะมองเห็นความสำคัญของแหล่งการเรียนรู้นอกห้องเรียนและพัฒนาสิ่งเหล่านี้ เพราะในเมื่อเราอยากเห็นผลผลิตของชาติเจริญงอกงาม ก็ควรหมั่นรดน้ำพรวนดินใส่ปุ๋ย มันอาจจะไม่ง่ายและใช้เวลานานในการพัฒนาสิ่งเหล่านี้ แต่มันจะส่งผลระยะยาวในอนาคต หากไม่รดน้ำพรวนดินเลย ต้นไม้ที่เราปลูกก็จะค่อยๆ เหี่ยวเฉา ในเมื่อไม่พัฒนาความรู้ของคน ประเทศชาติจะพัฒนาต่อไปได้อย่างไร

ทางสหรัฐอเมริกามองเห็นความสำคัญในด้านนี้ ทางภาครัฐของเขาจึงลงทุนอย่างไม่ลังเล ประเทศไทยก็เช่นกัน ในเมื่อคนส่วนใหญ่ไม่สนใจการเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ ทางภาครัฐก็ควรจะส่งเสริมและสนับสนุนเช่นเดียวกับทางสหรัฐอเมริกา ถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐจะให้ความสนใจในเรื่องของพิพิธภัณฑ์และแหล่งการเรียนรู้ เราควรลงทุนกับเรื่องแบบนี้ถึงแม้ว่าจะขาดทุน

แต่ผมก็เชื่อว่า คนเราควรยอมขาดทุนด้านการเงิน เพื่อกำไรในด้านสติปัญญา

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่









กำลังโหลดความคิดเห็น