ชูเพลงยาวเล่นว่าความครั้งรัชกาลที่ 1 - บทละครเรื่องอิเหนา ออนไลน์ ‘หอสมุดแห่งชาติ’ เปิดให้สืบค้นเอกสารโบราณหายาก 400 รายการ ทั้งตำนานพระพุทธสิหิงค์, คำพากย์รามเกียรติ์ มหาชาติคำหลวง ประชุมกาพย์เห่เรือ หวังสร้างเป็นแหล่งเรียนรู้ - ค้นคว้าสะดวก ตามนโยบายของรัฐบาลสู่เศรษฐกิจดิจิตอล
นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (กวช.) เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ที่ผ่านมา ได้มอบหมายนโยบายให้ 3 หน่วยงานของกรมศิลปากร ได้แก่ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สำนักหอสมุดแห่งชาติ และ สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ให้นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ มาพัฒนาการให้บริการแก่ประชาชน เพื่อให้เข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งการบริการสืบค้นเอกสารโบราณ ซึ่งที่ผ่านมาทางสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ได้ให้บริการเอกสารออนไลน์ไปแล้ว 886 รายการ โดยการแปลงแผ่นฟิล์ม 3 หมื่นแผ่น ให้บริการระบบดิจิตอลออนไลน์ รวมถึงภาพเก่าอีก 2 หมื่นภาพ เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลและแหล่งเรียนรู้ของผู้ที่สนใจและส่งผลดีต่อการอนุรักษ์เอกสารหอจดหมายเหตุที่มีอายุเป็นร้อยๆ ปีด้วย
นายวีระ กล่าวว่า ล่าสุด ทางสำนักหอสมุดแห่งชาติ ได้รายการความคืบหน้าการจัดทำระบบสืบค้นเอกสารโบราณผ่านระบบดิจิตอลต่อที่ประชุม กวช. ว่า ขณะนี้ได้ดำเนินการจัดทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว เพื่อให้เป็นระบบ และมีความสะดวกต่อผู้ใช้บริการ โดยมีการนำเข้าข้อมูลเอกสารโบราณมีประโยชน์ต่อการเรียนรู้ และเป็นประโยชน์ต่อการการศึกษาค้นคว้าสำหรับประชาชน 400 รายการ ไว้ในระบบการสืบค้นผ่านระบบ D-Library ในเว็บไซต์ www.digital.nlt.go.th ซึ่งเป็นเอกสารที่มีคุณค่า หายาก และอยู่ในการดูแลของกรมศิลปากร อาทิ เพลงยาวเล่นว่าความครั้งรัชกาลที่ 1, นิราศพระยามหานุภาพไปเมืองจีนครั้งกรุงธนบุรี เมื่อปีฉลู พ.ศ. 2324, ตำนานวังน่า, ตำนานพระพุทธสิหิงค์, คำพากย์รามเกียรติ์, บทกลอนกล่อมเด็ก ฉบับสอบ,มหาชาติคำหลวง, บทเห่กล่อมพระเจ้าลูกเธอ, บทละครเรื่องอิเหนา, ประชุมกาพย์เห่เรือ, ตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช, จดหมายเหตุเสด็จประพาศต่างประเทศในรัชกาลที่ 5 เสด็จฯเมืองสิงคโปร์ แลเมืองเบตาเวียครั้งแรก แลเสด็จประพาสประเทศอินเดีย เป็นต้น นอกจากนี้ กำลังเร่งดำเนินการคัดเลือกหนังสือและเอกสาร เพื่อจัดเป็นอีบุ๊ก โดยเฉพาะหนังสือที่เป็นลิขสิทธิ์ของกรมศิลปากร กว่า 1,000 รายการ
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่