xs
xsm
sm
md
lg

“สมพงษ์” หนุน สพฐ.ยกเลิกจับฉลากวัดดวงเข้าเรียนต่อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

บรรยากาศจับฉลากรับ นร.ร.ร.สตรีวิทยา 2 ในพระราชูปถัมภ์ฯ
“สมพงษ์” หนุนเลิกจับฉลากวัดดวงเข้าเรียน ชี้ทำให้เด็กฝังใจ เข้าใจการเข้าเรียนขึ้นอยู่กับดวง ระบุระยะยาวอัตราเกิดลดที่นั่งเหลือพอกับจำนวนเด็ก แนะ สพฐ. วางเกณฑ์สอบคัดเลือกที่เหมาะสมกับทั้งเด็กเก่ง เด็กยากจนและเด็กมีความสามารถ ขณะที่ ผอ.สตรีวิทยา 2 แจงจำเป็นต้องคงไว้เพื่อดูแลชุมชน เล็งลดสัดส่วนจับฉลากเหลือ 30% ในปี 59

ศ.ดร.สมพงษ์  จิตระดับ  อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีที่ นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) ระบุว่า เคยเสนอที่ประชุม กพฐ. ให้ยกเลิกการจับฉลาก แต่ที่ประชุมเห็นว่าควรให้คงไว้ก่อน เนื่องจากบางโรงเรียนยังต้องการให้คงไว้ก่อน แต่เชื่อว่าท้ายที่สุดการจับฉลากจะสลายไปตามธรรมชาติ จะเหลือเพียงการรับนักเรียนด้วยวิธีการสอบคัดเลือก ขณะที่ในการรับนักเรียนเข้าเรียนต่อระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 ประจำปีการศึกษา 2558 ที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำหนดให้ดำเนินการพร้อมกันเมื่อวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมา โดยมีโรงเรียนจับฉลากจำนวน 22 โรงเท่านั้น ว่า ตนเห็นด้วยหากจะยกเลิกการจับฉลากเข้าเรียนต่อ ม.1 เพราะระยะยาวจำนวนอัตราการเกิดของเด็กจะลดจำนวนลง ส่งผลให้จำนวนนักเรียนที่จะเข้าเรียนต่อ ม.1 และ ม.4 ลดลงเท่ากับอัตราว่างที่มี ซึ่งไม่จำเป็นต้องจับฉลาก แต่ สพฐ. จะต้องวางหลักเกณฑ์การสอบคัดเลือกที่เหมาะสม ไม่ควรให้ความสำคัญเฉพาะเด็กเก่งแต่ต้องมีสัดส่วนสำหรับเด็กยากจน เด็กที่มีความสามารถพิเศษในพื้นที่ด้วย สพฐ. ควรเร่งประกาศให้ผู้ปกครองทราบภายใน 2 ปี ขณะเดียวกัน สพฐ. ต้องเร่งพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กขนาดกลางเพื่อรองรับนักเรียนที่จะกระจายไปยังโรงเรียนเหล่านั้นด้วย

“การเพื่อคัดเลือกเด็กเข้าเรียนโดยวิธีการจับฉลากที่ผ่านมา มักจะทำให้เกิดภาพสะเทือนใจ คนจับฉลากเข้าเรียนได้ก็ดีใจ คนไม่ได้ก็ร้องไห้อาจจะทำให้กลายกลายเป็นเรื่องฝังใจเด็กว่า ระบบการเข้าเรียนต่อต้องไปผูกติดกับดวง หรือเครื่องรางของขลัง  ซึ่งไม่ถูกต้อง” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว

ด้าน นายสำรวย ไชยยศ โรงเรียนสตรีวิทยา (ส.ว.) 2 ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี กล่าวว่า ตามหลักการแล้ววิธีการรับนักเรียนที่ดีที่สุด ก็คือ การสอบคัดเลือก เพราะจะทำให้โรงเรียนได้นักเรียนที่เก่งเข้าเรียน ส่วนการจับฉลากนั้น ส่วนตัวคิดว่าสำหรับโรงเรียน ส.ว.2 ยังจำเป็นต้องคงไว้เพื่อดูแลชุมชน ซึ่งเป็นผู้ที่ให้การสนับสนุนโรงเรียนตลอดมาหากไม่มีชุมชน โรงเรียน ส.ว.2 ก็อยู่ไม่ได้ แต่อาจจะลดสัดส่วนลงได้เพราะอัตราการเกิดในอนาคตจะลดลง ทั้งนี้ ปัจจุบันแบ่งสัดส่วนการคัดเลือก โดยสอบ 60% และจับฉลากคัดเด็กในพื้นที่บริการอีก 40% สำหรับในปีการศึกษา 2559 อาจจะลดลงเหลือเพียง 30%

ขณะที่ นางเบญญาภา คงรอด ผู้อำนวยการโรงเรียนสตรีวิทยา กล่าวว่า การคัดเลือกเด็กเข้าเรียนโดยการจับฉลาก ควรจะคงไว้สำหรับโรงเรียนที่ยังมีความต้องการ โดยที่ผ่านมาเขตพื้นที่ฯ เองก็พยายามแบ่งสัดส่วนการรับนักเรียนให้มีความเหมาะสม ซึ่งในส่วนของโรงเรียนสตรีวิทยา การรับนักเรียนที่ผ่านมาก็ไม่ได้ใช้วิธีการจับฉลากแล้วแต่เปลี่ยนมาเป็นการสอบ โดยแบ่งสัดส่วนเป็นสอบคัดเลือกเด็กในพื้นที่บริการ และสอบทั่วไป ซึ่งสำหรับเด็กในพื้นที่บริการหากเด็กสามารถสอบได้คะแนนตามเกณฑ์ที่กำหนดโรงเรียนก็จะรับไว้ทันที และเท่าที่ดูการรับเด็กเข้าเรียนชั้น ม.1 และ ม.4 ปีนี้ ค่อนข้างกระจาย โดยผู้ปกครองมีแนวโน้มเลือกโรงเรียนใกล้บ้านมากขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นผลจากการที่ สพฐ. พัฒนาโรงเรียนดีใกล้บ้านให้มีคุณภาพ
 
 
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น