xs
xsm
sm
md
lg

เปิดเขตอันตราย “ดินถล่ม” ทั่วไทย จะแก้ไขอย่างไร เมื่อสร้างบ้านผิดที่ผิดทาง!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

โดย...สิรวุฒิ รวีไชยวัฒน์

ข่าวน้ำป่าไหลหลาก และดินถล่มตามพื้นที่ต่างๆ ของไทย ยังคงปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการเกิดเหตุแต่ละครั้งก็ล้วนสร้างความเสียหายให้แก่ชาวบ้าน และครัวเรือนต่างๆ เป็นจำนวนมาก ทว่า...ที่ผ่านมา เคยสะกิดใจหรือไม่ ว่าเหตุใดจึงยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน ซึ่งถึงแม้จะเป็นภัยธรรมชาติ แต่ความจริงแล้วเราสามารถป้องกันได้

ก่อนอื่นต้องมาทำความเข้าใจก่อนว่า “ดินถล่ม” เกิดขึ้นได้อย่างไร
นายสมใจ เย็นสบาย
นายสมใจ เย็นสบาย สำนักธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อมและพิบัติภัย กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อธิบายถึงเรื่องนี้ภายในงานฟื้นพลังชุมชนท้องถิ่นสู่การอภิวัฒน์ประเทศไทยครั้งที่ 5 จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่า ดินถล่มเป็นธรณีพิบัติภัยที่เกิดจากการเคลื่อนตัวของมวลดินและหินลงมาตามลาดเขาด้วยอิทธิพลของแรงโน้มถ่วง ซึ่งที่พบบ่อยในไทยมี 3 ประเภทคือ ดินถล่ม ดินไหล และ หินถล่ม

ส่วนปัจจัยที่ทำให้เกิดดินถล่ม นายสมใจ ไขข้อข้องใจว่า น้ำเป็นตัวแปรสำคัญ โดยเฉพาะปริมาณน้ำฝน ซึ่งแต่ละจังหวัดจะมีปริมาณน้ำฝนต่างกัน ทั้งนี้ เมื่อน้ำซึมลงไปในชั้นดินเป็นจำนวนมากเกินไปจะทำให้แรงยึดเหนี่ยวระหว่างเม็ดดินน้อยลง จนอุ้มน้ำไม่ไหว จึงเกิดการเคลื่อนตัว ดังนั้น หากฝนตกหนักมากหรือตกนานก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดดินถล่ม อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับสภาพธรณีวิทยาและสภาพภูมิประเทศด้วย ซึ่งแต่ละพื้นที่จะรับปริมาณน้ำฝนได้ต่างกัน เช่น ภาคใต้รับปริมาณน้ำฝนได้ดีกว่าภาคเหนือ เนื่องจากสภาพภูมิอากาศเป็นฝน 8 แดด 4 ต้นไม้เจริญเติบโตเร็วกว่าภาคเหนือ ก็จะช่วยให้รับปริมาณน้ำฝนได้มากกว่า การเกิดดินถล่มจึงยากกว่าภาคเหนือแม้ปริมาณน้ำฝนเท่ากัน เป็นต้น

อีกปัจจัยที่น่าห่วงไม่แพ้กัน และเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของชาวบ้านนั่นก็คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งเกิดจากน้ำมือของมนุษย์เอง โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ต่างๆ เช่น ทำเกษตรในพื้นที่สูงหรือบริเวณเชิงเขา การตัดไหล่เขาสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัย การตัดถนนผ่านไหล่เขาสูงชันโดยไม่มีการป้องกันดินไหล การขุดลอกร่องน้ำบนพื้นที่สูงหรือบริเวณหมู่บ้านต้นน้ำ ทำให้ตลิ่งพัง และดินไหล เนื่องจากต้องตัดไม้ในร่องน้ำ สร้างสะพานมีเสาจำนวนมากกีดขวางทางน้ำบนพื้นที่สูง รวมไปถึงการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อทำไร่

นายสมใจ กล่าวอีกว่า ความเสี่ยงดินถล่มมี 4 ระดับ แบ่งเป็น ระดับ 1 ถือว่ารุนแรงที่สุดคือ ดินถล่ม ระดับ 2 น้ำป่าไหลหลาก จะพัดพาเอาดินโคลนและต้นไม้มาด้วย ระดับ 3 น้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลัน และระดับ 4 น้ำท่วมฉับพลัน ซึ่งระดับนี้น้ำจะค่อนข้างใส เนื่องจากอยู่ไกลจากภูเขาแล้ว เศษดินโคลนมีน้อย น้ำจึงค่อนข้างใส

สำหรับพื้นที่ตำบลเสี่ยงภัยดินถล่มระดับ 1 นั้น จากข้อมูลกรมทรัพยากรธรณีพบว่า มีทั้งหมด 186 ตำบล ในพื้นที่ 25 จังหวัด ประกอบด้วย 1. เชียงใหม่ มี 18 ตำบล 2. เชียงราย มี 7 ตำบล 3. แม่ฮ่องสอน มี 30 ตำบล 4. น่าน มี 24 ตำบล 5. พะเยา มี 1 ตำบล 6. อุตรดิตถ์ มี 4 ตำบล 7. ตราด มี 3 ตำบล 8. เพชรบูรณ์ มี 1 ตำบล 9. พิษณุโลก มี 1 ตำบล 10. อุทัยธานี มี 1 ตำบล 11. กาญจนบุรี มี 2 ตำบล 12. ตาก มี 11 ตำบล 13. เลย มี 21 ตำบล 14. ชัยภูมิ มี 1 ตำบล 15. กระบี่ มี 2 ตำบล 16. ชุมพร มี 3 ตำบล 17. ตรัง มี 1 ตำบล 18. นครศรีธรรมราช มี 9 ตำบล 19. นราธิวาส มี 3 ตำบล 20. พังงา มี 6 ตำบล 21. ภูเก็ต มี 8 ตำบล 22. ยะลา 11 ตำบล 23. ระนอง มี 8 ตำบล 24. สตูล มี 1 ตำบล และ 25. สุราษฎร์ธานี มี 6 ตำบล

โดยลักษณะหมู่บ้านที่เสี่ยงภัยดินถล่ม มี 15 รูปแบบ คือ 1. ตั้งอยู่ในหุบเขาแคบรูปตัววี 2. อยู่ติดกับภูเขาและใกล้กับทางน้ำไหล 3. อยู่บนไหล่เขาที่เป็นตะกอนดินถล่มโบราณ 4. บ้านเรือนปิดร่องเขา 5. ตัดไหล่เขาสร้างบ้านเรือน 6. อยู่ต่ำกว่าถนนที่ตัดไหล่เขา 7. อยู่ใกล้กับถนนบนภูเขาที่ไม่มีการระบายน้ำที่ถูกต้อง 8. บ้านที่มีแท็งก์น้ำขนาดใหญ่อยู่บนไหล่เขาที่สูงกว่า 9. บ้านเรือนบนภูเขาสูงที่ไม่มีการระบายน้ำอย่างเป็นระบบ 10. อยู่ที่ต่ำกว่ารอยดินแยกหรือรอยดินไหลบนเขา 11. อยู่ที่ใกล้และต่ำกว่าพื้นที่เกิดดินถล่ม 12. อยู่ชิดริมตลิ่งตามลำน้ำที่อยู่ห่างจากภูเขาน้อยกว่า 10 เท่าของความสูงภูเขา 13. อยู่บริเวณน้ำลัดโค้ง 14. อยู่หน้าหุบเขาบนตะกอนน้ำพารูปพัดหรือที่ราบเชิงเขาสบห้วย และ 15. อยู่ติดฝาย สะพาน ท่อเหลี่ยม ท่อกลม และปลายทางระบายน้ำล้นของอ่างเก็บน้ำ

ขณะนี้เรามีแผนที่เสี่ยงภัยดินถล่มระดับประเทศ และระดับจังหวัด ซึ่งอย่างหลังมีความละเอียดกว่า แต่หากจะให้ละเอียดที่สุดคือแผนที่ระดับตำบล จะช่วยให้รู้ได้ว่าบ้านไหนเสี่ยงหรือไม่ เสี่ยงเพราะอะไร สร้างบ้านผิดที่ทางหรือไม่ หรือทำการเกษตรไม่ถูกต้อง ซึ่งจะช่วยให้แต่ละพื้นที่แก้ปัญหาได้ตรงจุด โดยปัจจุบันมีเพียงแห่งเดียวคือ ต.บัวใหญ่ อ.นาน้อย จ.น่าน ซึ่งเพิ่งทำเมื่อไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้และเพิ่งแล้วเสร็จ ทั้งนี้ การมีแผนที่ละเอียดเช่นนี้ทำให้เราทราบข้อมูลจริงมากขึ้น อย่าง ต.บัวใหญ่ เคยประเมินว่ามีความเสี่ยงระดับ 2 กลับพบว่ามีความเสี่ยงแค่ระดับ 3 - 4 ปัญหาคือการทำแผนที่ดังกล่าว 1 ปี ทำได้เพียง 10 ตำบลเท่านั้น แต่ประเทศไทยมีมากกว่า 1,800 ตำบล หากจะทำทั้งหมดคงใช้เวลาเป็น 100 ปี แต่การแก้ปัญหารอไม่ได้ ซึ่งปัญหานี้ชุมชนสามารถเรียนรู้และแก้ปัญหาด้วยตัวเองได้ โดยผู้นำชุมชนต้องเป็นคนเริ่มต้น โดยต้องศึกษาหาสาเหตุความเสี่ยง เพื่อป้องกันแก้ไขให้ถูกต้อง และต้องจับมือแก้ปัญหาด้วยกันตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลาย โดยเฉพาะหากต้นน้ำไม่ร่วมมือ ต่อให้ปลายน้ำเตรียมแก้ปัญหาอย่างดีก็ไม่ได้ผล

ส่วนการป้องกันและลดผลกระทบจากดินถล่ม นายสมใจ แนะว่า สิ่งก่อสร้าง เช่น ทางระบายน้ำควรใช้ท่อเหลี่ยมแทนท่อกลม สร้างสะพานสอดคล้องกับทางน้ำด้วยเสากลม สร้างถนนบนสันเขา ไม่ตัดไหล่เขา ส่วนที่อยู่อาศัยควรย้ายจากพื้นที่เสี่ยง แต่หากไม่ย้ายต้องปรับให้เหมาะสม เช่น สร้างบ้านใต้ถุนสูง และใช้เสากลม บ้านริมตลิ่งควรมีต้นไม้เพื่อยึดชั้นดิน เช่น ต้นตุ้ม ต้นไคร้นุ่น ต้นไคร้น้ำ ต้นกุ่ม ต้นชุมแสง เป็นต้น สำหรับการทำเกษตรไม่ควรปลูกใกล้ร่องน้ำ หรือคร่อมร่องน้ำ พื้นที่สูงชันควรปลูกข้าวโพดสลับแนวต้นไม้ เพื่อช่วยยึดหน้าดิน

ล้อมกรอบ

รายชื่อ 186 ตำบล เสี่ยงภัยดินถล่ม


จังหวัดเชียงใหม่ มี 18 ตำบล ประกอบด้วย สุเทพ บ้านทับ แม่ศึก แม่นาจร ปางหินฝน แม่แดด เมืองคอง ป่าเมี่ยง เทพเสด็จ ป่าแป๋ เมืองก๋าย กื้ดช้าง บ่อแก้ว บ้านปง ม่อนจอง สบโขง นาเกียน และแสนไห

จังหวัดเชียงราย มี 7 ตำบล ประกอบด้วย ห้วยชมภู วาวี ปอ เทิดไทย มาสลองใน แม่สลองนอก และแม่ฟ้าหลวง

จังหวัดแม่ฮ่องสอน มี 30 ตำบล ประกอบด้วย นาปู่ป้อม ปางมะผ้า ถ้ำลอด สบป่อง ทุ่งยาว แม่นาเติง เวียงเหนือ เวียงใต้ แมฮี้ เมืองแปง โป่งสา หมอกจำแป่ ห้วยปูลิง เมืองปอน แม่เงา แม่กี๊ ห้วยห้อม แม่นาจาง แม่โถ ขุนแม่ลาน้อย ป่าแป๋ แม่เหาะ แม่สะเรียง เสาหิน ป่าโปง แม่คะตวน กองก๋อย แม่สามแลบ สบเมย และแม่สวด

จังหวัดน่าน มี 24 ตำบล ประกอบด้วย หมอเมือง น้ำผาง น้ำปาย แม่จริม ภูคา สกาด ผาทอง ล้านนาหนองใหม่ แม่ขะนิง ยาบหัวนา ปอน งอบ นาทะนุง เมืองลี ปิงหลวง บ่อเกลือเหนือ บ่อเกลือใต้ ภูฟ้า ดงพญา นาไร่หลวง ชนแดน ยอด ห้วยโก๋น และขุนน่าน

จังหวัดพะเยา มี 1 ตำบล คือ ผาช้างน้อย

จังหวัดอุตรดิตถ์ มี 4 ตำบล ประกอบด้วย บ่อเบี้ย ห้วยมุ่น นางพญา และน้ำไผ่

จังหวัดตราด มี 3 ตำบล ประกอบด้วย หาดเล็ก เกาะช้าง และเกาะช้างใต้

จังหวัดเพชรบูรณ์ มี 1 ตำบลคือ เข็กน้อย

จังหวัดพิษณุโลก มี 1 ตำบล คือ บ่อภาค

จังหวัดอุทัยธานี มี 1 ตำบล คือ แก่นมะกรูด

จังหวัดกาญจนบุรี มี 2 ตำบล คือ ไล่โว่ และหนองลู

จังหวัดตาก มี 11 ตำบล ประกอบด้วย เกาะตะเภา บ้านนา แม่ตื่น สามหมื่น แม่สอง ท่าสองยาง แม่วะหลวง แม่อุสุ อุ้มผาง โมโกร และแม่ละมุ้ง

จังหวัดเลย มี 21 ตำบล ประกอบด้วย เสี้ยว กกทอง หาดคัมภีร์ ด่านซ้าย ปากหมัน นาดี โพนสูง โป่ง วังยาว นาหอ นาแห้ว แสงภา นาพึง นามาลา เหล่ากอหก หนองบัว ปลาบ่า ลาดค่าง ท่าศาลา น้ำทูน และเลยวังไสย์

จังหวัดชัยภูมิ มี 1 ตำบล คือ โนนทอง

จังหวัดกระบี่ มี 2 ตำบล ประกอบด้วย เกาะลันตาใหญ่ และศาลาด่าน

จังหวัดชุมพร มี 3 ตำบล ประกอบด้วย รับร่อ พะโต๊ะ และปากทรง

จังหวัดตรัง มี 1 ตำบล คือ ปากแจ่ม

จังหวัดนครศรีธรรมราช มี 9 ตำบล ประกอบด้วย เขาแก้ว กำโลน พิปูน กะทูน เขาพระ ถ้าใหญ่ เขาน้อย นบพิตำ และกรุงชิง

จังหวัดนราธิวาส มี 3 ตำบล ประกอบด้วย กาหลง เกียร์ และภูเขาทอง

จังหวัดพังงา มี 6 ตำบล ประกอบด้วย นบปริง สองแพรก ทุ่งคาโงก รมณีย์ คลองเคียน และคุระ

จังหวัดภูเก็ต มี 8 ตำบล ประกอบด้วย ฉลอง ราไวย์ กะรน กะทู้ ป่าตอง กมลา ศรีสุนทร และป่าคลอก

จังหวัดยะลา มี 11 ตำบล ประกอบด้วย เบตง ยะรม ตาเนาะแมเราะ อัยเยอร์เวง ธารน้ำทิพย์ ถ้ำทะลุ เขื่อนบางลาง ธารโต บ้านแหร แม่หวาด และคีรีเขต

จังหวัดระนอง มี 8 ตำบล ประกอบด้วย หาดล้มแป้น ละอุ่นเหนือ บางพระเหนือ บางแก้ว เชี่ยวเหลียง ปากจั่น ลำเลียง และ จ.ป.ร.

จังหวัดสตูล มี 1 ตำบล คือ เกาะสาหร่าย

และจังหวัดสุราษฎร์ธานี มี 6 ตำบล ประกอบด้วย ตลิ่งงาม เกาะพะงัน บ้านใต้ เกาะเต่า คลองชะอุ่น และพลูเถื่อน

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น