xs
xsm
sm
md
lg

เปลี่ยนวิธีพูดกับลูก ผลลัพธ์ก็เปลี่ยน /สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ระหว่างนั่งรอเพื่อนเพื่อคุยเรื่องงานในร้านอาหารแห่งหนึ่ง มีเหตุให้ไปเห็นเหตุการณ์ของแม่ที่กำลังดุลูกอยู่อย่างเผ็ดร้อน ดูจากหนูน้อยเด็กหญิงก็น่าจะอายุราวๆ 5 - 6 ขวบเท่านั้น กำลังร้องไห้ฟูมฟายอยู่ ในขณะที่แม่ซึ่งโกรธและอารมณ์เสียกำลังต่อว่าลูกของเธอ ประมาณว่าดื้อ พูดไม่ฟัง เห็นไหมทำแก้วน้ำแตกเลย รู้ไหมว่าต้องเสียตังค์เลย และขณะที่กำลังเงื้อมือจะตีลูก พ่อก็ห้ามไว้แล้วบอกว่าพอได้แล้ว อายคนอื่นบ้าง

แม่วัยสาวยังอารมณ์เสียบอกต่อว่าทำไมต้องอาย ไม่เห็นต้องอายเลย ก็ลูกมันดื้อน่ะ ไม่เห็นเหรอ

เด็กน้อยน่าสงสารมาก แค่ทำแก้วน้ำแตก ก็ใจเสียอยู่แล้ว ยังต้องมาเจอแม่สวมบทยักษ์โกรธและต่อว่าอย่างรุนแรงอีก แล้วหนูน้อยจะรู้สึกอย่างไร ?

ครั้นถ้าเราเข้าไปจุ้น คงต้องเจอตอกกลับแน่ ใจก็ภาวนาขอให้เพื่อนรีบมา จะได้ขอย้ายร้าน เพราะหนูน้อยน่าสงสารจริงๆ
เชื่อเหลือเกินว่าเพื่อนพ่อแม่อาจต้องเคยเจอสถานการณ์ในท่วงทำนองแบบนี้ ประมาณลูกไม่เชื่อฟัง ลูกทำข้าวของเสียหาย ฯลฯ เจอแล้วทำอย่างไร จัดการแบบไหน

แบบแรก... ไม่แตกต่างจากกรณีคุณแม่ท่านนั้น โกรธและต่อว่าทันที

แบบที่สอง... หงุดหงิด ไม่พอใจ แต่ก็ไม่ได้ทำโทษรุนแรง อาจจะใช้วิธีลงโทษแบบอื่น

แบบที่สาม... ตั้งสติ รีบบอกให้ลูกระมัดระวังเศษแก้วที่แตกจะบาดเท้าลูกได้ แล้วพูดคุยกับลูกว่าหนูต้องเพิ่มความระมัดระวังให้มากกว่านี้

คุณคิดว่าสถานการณ์เดียวกัน แต่แม่ใช้วิธีแตกต่างกัน ผลลัพธ์ที่ตัวลูกจะแตกต่างกันไหม !

การเลือกวิธีการในการจัดการปัญหากับลูก มันส่งผลต่อผลลัพธ์ที่ตัวเด็กเสมอ ถ้าเราใช้วิธีคิด หรือพฤติกรรมด้านลบในการจัดการปัญหา ผลลัพธ์ก็ลบแน่นอน แต่ถ้าเราใช้วิธีคิดหรือพฤติกรรมด้านบวกในการจัดการปัญหา ผลลัพธ์ก็จะได้ด้านบวกเช่นกัน

นึกถึงประโยคของ ท่าน ว.วชิรเมธี ที่เคยพูดถึงการใช้คำพูดกับการสอนลูก ว่าต้องมีทัศนคติเชิงบวกกับการใช้คำพูดทางบวกเพราะมีผลต่อลูกมาก ถ้าพ่อแม่ยิ่งตอกย้ำทัศนคติและคำพูดด้านลบทุกวันๆ เด็กจะทำอะไรไม่เป็นเลย

เปรียบได้กับผู้บริหารที่ตำหนิลูกน้องทุกวันย่อมส่งผลให้ประสิทธิภาพของงานลดลงตามไปด้วย แต่ถ้าเปลี่ยนวิธีใหม่ลองใช้คำพูดให้กำลังใจเมื่อทำผิดพลาดประสิทธิภาพของงานก็จะดีขึ้นตามลำดับ เนื่องจากคำพูดที่ดีจะช่วยเสริมให้เกิดกำลังใจนำไปสู่ความเชื่อมั่นในที่สุด

ฉะนั้น ถ้าเราเอาวิธีคิดบวก (Positive Thinking) มาใช้ในการดูแลลูก ก็สามารถทำได้ตั้งแต่ลูกยังเล็ก ฝึกจากเรื่องเล็กๆ ใช้การพูดด้วยเหตุและผล อย่าคิดว่าลูกเล็กเกินไปแล้วไม่เข้าใจ ความจริงเขาสามารถซึมซับและเข้าใจได้ตามวัยของเขา พ่อแม่ไม่ควรใช้วิธีเลี้ยงดูด้วยการบังคับ การขู่เข็ญหรือใช้การทำโทษด้วยการตี แม้จะได้ผลในช่วงแรกเพราะความกลัว แต่ทุกครั้งที่เด็กถูกขู่ว่าจะโดนทำโทษเด็กจะรู้สึกขัดข้องในใจหรือเกิดความขัดแย้งในใจ ทำให้ความไว้วางใจต่อพ่อแม่และความใกล้ชิดที่มีต่อกันเกิดช่องว่าง
การเลี้ยงลูกด้วยวิธีด้านบวก คือ การใช้วิธีที่นุ่มนวล ใช้เทคนิคการพูดคุยและสร้างวินัยโดยไม่ไปทำร้ายจิตใจเด็ก

วันนี้มีเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ มาฝากค่ะ

หนึ่ง - ฝึกคิดหลายแง่มุม

ยกตัวอย่างหากมีเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง ควรฝึกว่าสามารถมองได้หลายมุม มีเรื่องให้ตัดสินใจก็มีหลากหลายวิธี และการมองหลายๆ มุม หรือตัดสินใจทางใด จะมีข้อดีข้อเสียอย่างไร โดยพยายามใส่ทัศนคติที่ดี หรือวิธีคิดที่เป็นบวก เมื่อฝึกบ่อยๆ ก็จะติดตัวไปด้วย
ที่สำคัญ เมื่อเราเริ่มฝึกจากตัวเองก่อน ก็จะทำให้การฝึกลูกเป็นไปได้ง่ายขึ้น และยังทำให้เขามองเห็นความแตกต่างและยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง จะทำให้ลูกรู้จักยอมรับความจริงที่เกิดขึ้น

สอง - ฝึกสร้างแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์

พ่อแม่เริ่มจากการตั้งเป้าหมายและพยายามทำให้เกิดผลสำเร็จ หรืออาจจะตั้งเป้าหมายเล็กๆ ไปพร้อมๆ กับลูก โดยดูให้เหมาะกับวัย และเมื่อเราหรือลูกสามารถทำได้ก็ให้รางวัลด้วยการโอบกอดซึ่งกันและกัน ชื่นชมซึ่งกันและกัน ลูกก็จะรู้สึกดีที่สามารถทำได้ และเห็นแบบอย่างของพ่อแม่ด้วย ทำให้เขารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว และมีแรงจูงใจที่อยากจะทำสิ่งใดๆให้สำเร็จ

สาม - ฝึกเผชิญปัญหา

ถ้าพ่อแม่เกิดปัญหาและพร้อมเผชิญปัญหา ลูกก็เรียนรู้จากพ่อแม่ แต่ส่วนใหญ่พ่อแม่มักกลัวหรือกังวลว่าลูกจะผิดหวังหรือล้มเหลว ซึ่งจริงๆ แล้วความผิดหวังหรือล้มเหลวเป็นบทเรียนที่เป็นประโยชน์อย่างมากเมื่อลูกโตขึ้น เพียงแต่พ่อแม่คอยเป็นผู้ให้คําแนะนํา และท้ายสุดก็จะทำให้ลูกเชื่อมั่นในตนเองอีกด้วย

การฝึกเผชิญปัญหาจะทำให้เราสามารถเผชิญกับความผิดหวัง ความคิดในด้านลบก็ไม่เกิดขึ้น ในทางตรงกันข้ามถ้าคิดบวก ก็ทำให้พร้อมที่จะหาทางแก้ปัญหาต่อไปด้วย

ตัวอย่างที่เล่าให้ฟังข้างต้นของแม่ลูกคู่หนึ่ง เป็นตัวอย่างที่ดี

ลองคิดดูว่าถ้าแม่เป็นแบบที่สาม ลูกจะเป็นอย่างไร อาการใจเสียเรื่องทำแก้วน้ำแตก แต่แม่ก็เป็นห่วงกลัวลูกจะถูกเศษแก้วทำให้เจ็บได้ ลูกสัมผัสได้ด้วยความรักที่แม่มีให้ แม้เขาจะทำผิดพลาด แต่เขาจะเรียนรู้ด้วยตัวเองว่าครั้งต่อไปเขาจะระมัดระวังมากกว่านี้ และจะเชื่อฟังแม่มากกว่านี้ เพราะแม่ได้เตือนก่อนหน้านี้แล้ว

ในขณะที่แม่แบบที่หนึ่งที่นอกจากทำให้ลูกใจเสียแล้ว ยังทำให้ลูกกลัวและกังวลถึงความผิดพลาดไปหมด กลัวแม่ด้วย ความคิดเหล่านี้เมื่อติดตัวไป เขาก็อาจจะขาดความมั่นใจในตัวเอง

ส่วนแม่แบบที่สองเป็นแม่ส่วนใหญ่ ที่ทั้งสงสารลูก แต่เมื่อผิดพลาดก็ต้องทำโทษ เพียงแต่ว่าอาจจะไม่ได้เติมวิธีคิดบวกเข้าไปด้วย
ความคิดในเชิงบวกเป็นเรื่องจำเป็นในสังคมยุคปัจจุบัน การคิดบวกไม่ได้หมายความว่าไร้เดียงสา หรือไม่ทันคน แต่การคิดบวกหรือ การสร้างพลังบวก ช่วยส่งเสริมศักยภาพของตนเองได้มากมาย ทั้งยังสามารถแปรเปลี่ยนเรื่องร้ายๆ ให้กลายเป็นดีได้อีกด้วย
มาเริ่มต้นตั้งต้นใหม่กันแต่วันนี้ดีไหมคะ...

เราอาจจะยังเปลี่ยนโลกรอบตัวไม่ได้ แต่สามารถเปลี่ยนปรับตัวเราได้ค่ะ

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น