xs
xsm
sm
md
lg

สั่งพัฒนาฝีมือแรงภาคอุตฯ 12 สาขา นำร่อง “ยานยนต์-ท่องเที่ยว-โลจิสติกส์”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อธิบดี กพร. สั่ง กพร.ปจ. ทั่วประเทศเร่งพัฒนาฝีมือแรงงานอุตสาหกรรมหลัก 12 สาขา นำร่องยานยนต์ - โลจิสติกส์ - ท่องเที่ยวรองรับเออีซี ประธานคณะอนุกรรมการพัฒนากำลังแรงงานยานยนต์แนะรัฐให้ความสำคัญพัฒนาแรงงานภาคอุตสาหกรรม เสนอตั้งสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานในอุตสาหกรรมหลัก

วันนี้ (17 มี.ค.) ที่โรงแรมบางกอกชฎา กรุงเทพฯ ม.ล.ปุณฑริก สมิติ อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กล่าวในการเป็นประธานเปิดการสัมมนาการขับเคลื่อนการดำเนินการของคณะอนุกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพจังหวัด (กพร.ปจ.) ว่า ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) จะต้องพัฒนาแรงงานให้มีทักษะฝีมือสูงขึ้น ทำงานได้ผลิตภาพสูงขึ้น มีทักษะด้านภาษาและไอทีโดยปัจจุบันมีคณะกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานการฝึกอาชีพแห่งชาติ (กพร.ปช.)เป็นผู้กำหนดนโยบายและแนวทางในการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพในส่วนกลาง และมีคณะอนุกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพจังหวัด (กพร.ปจ.) ขับเคลื่อนงานจาก กพร.ปช. ไปสู่ระดับพื้นที่และสร้างเครือข่ายภาครัฐและเอกชนในการขับเคลื่อนงาน ซึ่ง กพร.ปจ. จะต้องจัดทำแผนการพัฒนาแรงงานระดับพื้นที่ในปี 2559 - 2562 และขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรมพร้อมติดตามประเมินผล

อธิบดี กพร. กล่าวอีกว่า กพร.ปช. เน้นการพัฒนากำลังคนเป็นรายอุตสาหกรรมใน 12 อุตสาหกรรม โดยขณะนี้เริ่มดำเนินการใน 3 อุตสาหกรรม คือ ยานยนต์และผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ การท่องเที่ยวและบริการ โลจิตติกส์ และ ซัปพลายเชน ซึ่ง กพร.ปช. จะเร่งสร้างมาตรฐานวิชาชีพและระบบการทดสอบให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะสาขาการท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งเป็นหนึ่งในสาขาที่จะเปิดเสรีด้านแรงงานหลังเปิดเออีซี จะต้องปรับแผนการพัฒนากำลังคนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการในช่วงครึ่งปีหลังตั้งแต่เดือนเมษายน - กันยายน 2558 ของทุกจังหวัดให้มีการพัฒนาแรงงาน มีสมรรถนะมาตรฐานอาเซียนโดยร่วมมือกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพในการจัดทดสอบมาตรฐานฝีมือและประเมินผลทักษะฝีมือ นอกจากนี้ จะต้องมีการสอดแทรกสมรรถนะมาตรฐานอาเซียนด้านการท่องเที่ยวและบริการลงไปในหลักสูตรของสถาบันอาชีวศึกษาและสถาบันอุดมศึกษาที่เปิดสอนสาขาเหล่านี้ด้วย

นายถาวร ชลัฐเถียร ประธานคณะอนุกรรมการกรอบยุทธศาสตร์พัฒนากำลังแรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ในคณะกรรมการกพร.ปช. กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลเน้นการผลิตกำลังคนในกลุ่มที่อยู่ในสถาบันการศึกษามากกว่ากลุ่มคนที่อยู่ในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างๆ ขณะที่การพัฒนากำลังคนรุ่นใหม่ในระบบการศึกษาเป็นสิ่งที่ต้องทำ แต่การพัฒนาแรงงานซึ่งเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศก็ต้องทำควบคู่กันโดยควรจัดสรรงบประมาณและบุคลากรเพื่อขับเคลื่อนในเรื่องนี้ให้สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการ รวมทั้งควรตั้งสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานในรายอุตสาหกรรมหลักขึ้นมารองรับเช่น ยานยนต์ ท่องเที่ยว โลจิสติกส์เพื่อการพัฒานาแรงงานทำได้อย่างรวดเร็ว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น