xs
xsm
sm
md
lg

หนุนจ่ายเงินชดเชยผู้ป่วยไม่พิสูจน์ถูกผิด เลี่ยงอคติ หมอไม่พูดความจริง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ผอ.สรพ. หนุนคลอด กม. กองทุนช่วยผู้ป่วย ยันจ่ายเงินชดเชยไม่พิสูจน์ถูกผิดเหมาะสม ชี้หากไม่แยกการจ่ายเงินและการพิสูจน์ถูกผิด เสี่ยงเกิดอคติไม่ยอมจ่าย แพทย์ไม่ยอมพูดความจริง เผยความเสียหายไม่ได้จ่ายทุกกรณี ระบุหากเป็นไปตามธรรมชาติของโรคไม่ต้องจ่าย

นพ.อนุวัฒน์ ศุภชุติกุล ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. กล่าวถึงกรณีแพทยสภาคัดค้านการผลักดันร่าง พ.ร.บ. กองทุนคุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. ... ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ว่า กฎหมายนี้ยกร่างด้วยความตั้งใจดีของหลายฝ่าย ทั้งนักกฎหมาย ผู้เสียหายจากการรับบริการ และวิชาชีพด้านสาธารณสุข ซึ่งถูกร่างโดยนักกฎหมายที่มีความรู้ดีว่าจะสามารถเขียนขนาดไหนอย่างไร และคำนึงถึงความสบายใจของทุกฝ่าย ไม่ให้มีปัญหา ผู้ที่เกี่ยวข้องที่มีข้อห่วงใยก็รับฟังเอาไปบรรจุปรับแก้ในร่างกฎหมายให้รัดกุมแล้วหลายครั้ง แต่ที่ยังมีออกมาค้านอยู่ในตอนนี้ คาดว่าอาจไม่เข้าใจภาษาของกฎหมาย โดยเฉพาะกรณีการจ่ายเงินชดเชยให้ผู้เสียหายโดยไม่พิสูจน์ถูกผิด

นพ.อนุวัฒน์ กล่าวว่า การจ่ายเงินชดเชยโดยไม่พิสูจน์ถูกผิดนั้นเป็นเรื่องที่เหมาะสมแล้ว เพราะการจ่ายเงินชดเชย และการพิสูจน์ถูกผิดไม่ควรนำมาเกี่ยวข้องกัน ซึ่งกฎหมายของต่างประเทศก็เป็นเช่นนี้ เช่น นิวซีแลนด์ และ สวีเดน ที่ระบุว่าจะต้องสร้างกำแพงแยกกันชัดเจนใน 2 เรื่องนี้ เพราะผู้เสียหายเกิดความเสียหายขึ้นจริง อย่างไรก็ควรได้รับค่าชดเชย แต่หากนำการพิสูจน์ถูกผิดเข้ามาพิจารณาร่วมด้วย จะเกิดการเลี่ยงไม่จ่ายค่าชดเชยให้ผู้เสียหายว่า พิสูจน์แล้วผู้ให้บริการทำถูกต้อง ไม่ผิด จึงไม่จ่าย ทั้งที่ความเสียหายมันเกิดขึ้นไปแล้ว ซึ่งตรงนี้จะไม่ยุติธรรมต่อผู้ป่วย เพราะนั่นคือชีวิตของคนๆ หนึ่ง

ส่วนที่กังวลว่าจะเข้ามาขอรับเงินมากขึ้นนั้น กฎหมายก็ระบุไว้ชัดเจนว่าจะจ่ายค่าชดเชยในความเสียหายที่ไม่เป็นไปตามธรรมชาติของโรค ไม่ว่าจะเป็นเพราะความผิดแพทย์ หรือเหตุสุดวิสัย คนไข้ก็ควรได้รับการชดเชย ส่วนความเสียหายที่เป็นไปตามธรรมชาติของโรคจะไม่ได้รับการชดเชย เช่น ผู้ป่วยเกิดอุบัติเหตุเลือดออกในสมอง สมองบวม ซึ่งตามธรรมชาติของโรคสมองจะบวมขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้คนไข้อาการแย่ลง ดังนั้น เมื่อก่อนมาถึงโรงพยาบาลผู้ป่วยอาการยังดีอยู่ แต่พอมาถึงโรงพยาบาลแล้วอาการเกิดแย่ลงอย่างรวดเร็วจากภาวะสมองบวกขึ้นอย่างรวดเร็วจนเสียชีวิตนั้น ญาติจะมาร้องว่าโรงพยาบาลดูแลไม่ดี ต้องจ่ายค่าชดเชยนั้นไม่ได้ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นไปตามธรรมชาติของโรค เป็นต้น ส่วนการพิสูจน์ถูกผิดนั้นต้องมี แต่ควรแยกเป็นอีกระบบที่ไม่เกี่ยวกับการจ่ายเงินชดเชย เพื่อให้ทราบว่าสาเหตุเกิดจากอะไร จะได้เป็นบทเรียนต่อไป แต่หากเอาไปผูกกับการจ่ายเงินชดเชยจะเกิดอคติว่าจะจ่ายหรือไม่จ่าย และจะทำให้บุคลากรทางการแพทย์ไม่ยอมพูดความจริง” ผอ.สรพ. กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น