กรมสุขภาพจิต เผย ตรวจสภาพจิตเด็กหนุ่มปินส์วัย 19 ฆ่าปาดคอแม่เฒ่า ขึ้นอยู่กับดุลพินิจศาล แต่ระบุการเล่นเกมติดต่อกันนานของเด็ก ส่งผลต่อพฤติกรรมรุนแรง จี้พ่อแม่ตั้งกติกา ควบคุมชนิดเกมและเวลาการเล่นของลูก ผอ.สถาบันสุขภาพจิตเด็กฯ เผยสมองส่วนหยาบพัฒนาก่อน ส่วนยับยั้งความรู้สึก ย้ำอย่าปล่อยให้ลูกอยู่กับเกมจนติด
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงกรณีวัยรุ่นชาวฟิลิปปินส์ วัย 19 ปี ฆ่าปาดคอแม่เฒ่า วัย 73 ปี ที่ จ.เชียงใหม่ โดยเลียนแบบมาจากเกมนักฆ่าประเภทต่อสู้สังหาร ว่า ในทางจิตวิทยามีความเป็นไปได้ที่การเล่นเกมติดต่อกันเป็นเวลานานของเด็กอาจก่อให้เกิดการเสพติดและมีพฤติกรรมรุนแรงได้ แต่ไม่ได้เป็นทุกคน ทั้งนี้ พฤติกรรมเลียนแบบอาจเป็นเพราะเด็กแยกโลกความจริงกับเกมไม่ออก เพราะวุฒิภาวะไม่พอ พ่อแม่จึงต้องมีกติกากับลูกในการเล่นเกม โดยกำกับชนิดเกมและเวลาให้ดี เพราะส่งผลต่อการเรียนรู้ของเด็ก ทำให้หมกมุ่น ขาดทักษะชีวิตและการเข้าสังคมในการทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น ส่วนข้อสงสัยว่าเยาวชนที่ก่อเหตุสภาพจิตปกติหรือไม่นั้น การตรวจสุขภาพจิตเด็กขึ้นอยู่กับดุลพินิจของเจ้าหน้าที่หรือศาล เนื่องจากคดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว อย่างไรก็ตาม กรมฯได้ส่งทีมสุขภาพจิต รพ.สวนปรุง เข้าพูดคุยเยียวยาจิตใจครอบครัวของเยาวชนผู้ก่อเหตุแล้ว
นพ.เจษฎา กล่าวว่า นอกจากเกมจะมีส่วนโน้มน้าวจูงใจแล้ว สิ่งแวดล้อมครอบครัวก็มีส่วนด้วย พ่อแม่ ผู้ปกครอง จึงควรให้เวลาใส่ใจดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด สอนลูกแบ่งเวลาและรับผิดชอบหน้าที่ตนเอง จำกัดเวลาการใช้อินเทอร์เน็ตหรือเล่นเกม ไม่ปล่อยให้เล่นเพียงลำพังหรือปล่อยให้เล่นเกมที่มีความรุนแรง และควรสร้างบรรยากาศให้เด็กหันไปสนใจอย่างอื่นแทนการเล่นเกม
ด้าน พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผอ.สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า การเสพติดเทคโนโลยีในทางการแพทย์ พบว่า สมองเราจะเจริญเติบโตได้ไม่พร้อมกัน คือ สมองหยาบหรือที่เรียกว่าสมองส่วนการรับรู้และประสาทสัมผัส จะเจริญเติบโตและพัฒนาก่อน ส่วนสมองละเอียดที่ใช้ยั้งคิดและควบคุมความรู้สึก พฤติกรรมจะเติบโตสมบูรณ์เต็มที่เมื่ออายุประมาณ 20 ปี ดังนั้น เด็กๆ ในวัยต่ำกว่า 20 ปี จึงมีการตอบสนองต่อสิ่งเร้าได้ง่าย มีความอดทนอดกลั้น ความยั้งคิด และยับยั้งชั่งใจน้อยกว่า เมื่อมีสิ่งยั่วยุที่ทำให้มีความสนุกสนาน สมองทางด้านการควบคุมหรือวุฒิภาวะ เลยไม่สามารถเอาชนะได้ ทำให้เด็กมีโอกาสติดคอมพิวเตอร์ ติดเกม ติดคุยโทรศัพท์ ติดสื่อลามกได้ง่ายกว่า หากปล่อยให้ลูกอยู่กับสิ่งเหล่านี้มากเกินไป เช่น มากกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน ก็จะนำไปสู่การเสพติดในที่สุด การเล่นเกมที่มีเนื้อหาความรุนแรง จะสร้างการเรียนรู้ผิดๆ จากการที่ได้ดูบ่อยๆ จะค่อยๆ ซึมซับเป็นแบบอย่างเกิดความชินชา ยอมรับและเห็นว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา และกลายเป็นพฤติกรรมเลียนแบบในที่สุด
“นอกจากนี้ ผลกระทบจากการเล่นเกมมากๆ ทำให้สมาธิสั้น มีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างน้อยลง มีปัญหาการเข้าสังคมในโลกความจริง การดูแลใกล้ชิดของพ่อแม่ ผูปกครองจึงมีความสำคัญที่สุด” ผอ.สถาบันสุขภาพจิตเด็กฯ กล่าว
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่