xs
xsm
sm
md
lg

แอปฯลดอ้วน “FoodiEat” คำนวณพลังงานกิน-ใช้ ให้คำแนะนำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เปิดตัวแอปพลิเคชันช่วยลดอ้วน “FoodiEat” คำนวณพลังงานอาหารที่กิน และกิจกรรมที่ใช้ไปสมดุลหรือไม่ พร้อมให้คำแนะนำผ่านเซิร์ฟเวอร์ เผยสแกนบาร์โค้ดขนม นม น้ำ รู้สัดส่วนพลังงานทันที จ่อพัฒนาฐานข้อมูลอาหารตามสั่ง อาหารถุงเพิ่ม รองนายกฯเผย ข้อมูลผู้ใช้แอปฯนำไปพัฒนานโยบายสุขภาพระดับประเทศ หวังสกัดคนไทยอ้วนอันดับ 2 ในเอเชีย

วันนี้ (16 ก.พ.) ที่โรงแรมเดอะ สุโกศล นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายในงานเปิดตัวแอปพลิเคชัน “FoodiEat” โปรแกรมบันทึกและวิเคราะห์พฤติกรรมการบริโภคและการออกกำลังกาย ว่า แอปฯดังกล่าวถือว่ามีประโยชน์อย่างมากต่อคนไทย และมีประโยชน์ต่อการพัฒนานโยบายด้านสุขภาพของประเทศด้วย เนื่องจากข้อมูลที่ผู้ใช้งานบันทึกในแอปฯนั้น จะถูกส่งไปยังเซิร์ฟเวอร์ของผู้พัฒนาระบบ โดยจะมีการรวบรวมข้อมูลทำให้เห็นภาพชัดว่า คนไทยรับประทานอะไร อย่างไร มากน้อยเกินไปหรือไม่ ซึ่บจะสามารถนำมาเชื่อมโยงกับข้อมูลทางด้านสาธารณสุขได้ อย่างเช่น ข้อมูลที่ว่าคนไทยมีแนวโน้มอ้วนเพิ่มมากขึ้น ก็จะมีข้อมูลมาสะท้อนว่าเกิดจากพฤติกรรมการรับประทานมาเกินไปอย่างไร ซึ่งแอปฯนี้ถือเป็นการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาเพื่อประโยชน์ทางด้านสังคมตามนโยบายของรัฐบาล และถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการสร้างฐานข้อมูลโภชนาการอาหารไทยของประเทศ

ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) กล่าวว่า จากการสำรวจรูปร่างสรีระคนไทยในปี 2550-2551 หรือไซส์ไทยแลนด์ โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์แบะคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) พบว่า สัดส่วนของคนไทยมีแนวโน้มอ้วนมากขึ้น 34% หรือ 1 ใน 3 ของคนไทยมีภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วน ซึ่งเป็นปัญหาทั้งในประเทศพัฒนาและกำลังพัฒนา จากวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป เช่น บริโภคอาหารจานด่วน เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาล การขาดออกกำลังกาย ซึ่งเนคเทค สวทช. ตระหนักถึงปัญหาตรงนี้ จึงพัฒนาแอปพลิเคชัน “FoodiEat” เพื่อเป้นเครื่องมือในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และเสริมสร้างค่านิยมในการบริโภคและการออกกำลังกายที่ถูกต้อง

ดร.ทวีศักดิ์ กล่าวว่า แอปฯดังกล่าวออกแบบมาให้ใช้งานง่าย ทั้งระบบ iOS และ Android สามารถบันทึกพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และคำนวณค่าพลังงานที่เผาผลาญจากการออกกำลังกายในแต่ละมื้อ และแต่ละวัน โดยจะมีการให้คำแนะนำการดูแลสุขภาพโดยตรงผ่านระบบเซิร์ฟเวอร์ ซึ่งจะเรียนรู้พฤติกรรมการบริโภคและออกกำลังกายของผู้ใช้ ซึ่งแอปฯนี้ พัฒนาครั้งแรกเมื่อปี 2554 ส่วนเวอร์ชันล่าสุดได้รับงบประมาณสนับสนุนต่อยอดจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และได้รับการอนุเคราะห์ข้อมูลทั้งคุณค่าทางโภชนาการของอาหารไทย ผลไม้ ฉลากโภชนาการอาหาร ขนม และเครื่องดื่มกว่า 3,000 รายการจาก สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยข้อมูลพฤติกรรมของผู้ใช้จะเป็นคลังข้อมูลสำคัญที่ใช้ต่อยอดในงานวิจัย เพื่อปรับปรุงและพัฒนานโยบายด้านสุขภาพของคนไทยต่อไป

ดร.ทิพย์วรรณ ปริญญาศิริ ผู้อำนวยการสำนักอาหาร อย. กล่าวว่า คนไทยมีภาวะอ้วนเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย อันดับ 1 คือมาเลเซีย ส่วนประเทศที่มีจัดการปัญหาภาวะอ้วนได้ดีอันดับ 1 คือ สิงคโปร์ เนื่องจากมีประชากรน้อย แต่ประเทศไทยกลับมีอาหารที่หลากหลาย ไม่เฉพาะอาหารไทยเท่านั้น ยังรวมไปถึงอาหารนานาชาติที่หลั่งไหลเข้ามาจากการเป็นเมืองท่องเที่ยวด้วย หากจะปรับพฤติกรรม จะเกิดคำถาม 3 ข้อ คือ 1. ตลอดทั้งวันสามารถกินได้เท่าไร 2. กินไปแล้วเท่าไร ยังเหลือกินได้อีกเท่าไร และ 3. ต้องออกกำลังกายเท่าไร ซึ่งแอปฯดังกล่าวสามารถตอบคำถามทั้งสามส่วนนี้ได้ จึงเป็นอีกทางเลือกที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม อย. จะสำรวจข้อมูลอาหารทุกปี เพื่อจัดส่งเป็นฐานข้อมูลในการทำแอปฯต่อไป โดยเฉพาะอาหารถุง ซึ่งปัจจุบันคนไทยหันมาบริโภคมากขึ้น ส่วนข้อมูลฉลากโภชนาการนั้น พวกกลุ่มขนม เครื่องดื่มที่มีบาร์โค้ดนั้น สำหรับระบบ Andriod สามารถสแกนบาร์โค้ดเพื่อบันทึกข้อมูลได้ทันที ซึ่งในอนาคตจะพัฒนาในระบบ iOS ด้วย

ผศ.ดร.ชนิพรรณ บุตรยี่ รอง ผอ.สถาบันโภชนาการ ม.มหิดล กล่าวว่า การบันทึกการรับประทานอาหาร ในแอปฯจะมีรายชื่อเมนูอาหาร กับข้าว และเครื่องดื่ม ที่ผู้ใช้สามารถเข้ามาค้นหาและเลือกบันทึกได้เลย ซึ่งจะอ้างอิงคุณค่าทางโภชนาการและพลังงานจากการเก็บข้อมูลร้านอาหารที่ผ่านมาของสถาบันฯ อย่างไรก็ตาม อาจยังมีปัญหาเพราะปริมาณอาหารอาจไม่ตรงกับเมนูที่มีให้เลือกบันทึก ซึ่งในอนาคตจะพัฒนาให้สามารถเห็นรูปของเมนูอาหารอ้างอิงในแอปฯ ด้วย เพื่อให้เลือกได้ว่าเมนูอาหารใดที่ใกล้เคียงกับที่เราบริโภคมากที่สุด เช่น ข้าวผัดกะเพราไก่ ในแอปฯอาจมีให้กดเลือก 3 เจ้า ก็จะมีรูปให้พิจารณาว่าเจ้าไหนปริมาณใกล้เคียงมากที่สุด เป็นต้น ซึ่งยอมรับว่าอาหารปรุงประกอบเหล่านี้ยังต้องพัฒนาฐานข้อมูลอีกมาก และหากเป็นอาหารที่ไม่มีเมนูอ้างอิง จำเป็นต้องบันทึกเอง ก็ต้องใส่ปริมาณอาหารและแคลอรีเอง ซึ่งตรงนี้มีปัญหา เพราะผู้ใช้ย่อมไม่รู้ปริมาณและแคลอรี จึงต้องพัฒนาต่อ โดยอาจเพิ่มฟังก์ชันให้สามารถกรอกรายละเอียดส่วนประกอบของอาหารว่ามีอะไรบ้าง ใส่มากน้อยเท่าไร เพื่อประมวลผลออกมาเป็นอาหารจานที่เราทำเอง

ติดตาม Facebook Fanpage ของ "Quality of Life" ได้ที่






กำลังโหลดความคิดเห็น