xs
xsm
sm
md
lg

ก.ค.ศ.ไฟเขียวเกณฑ์โอนครูท้องถิ่นมาเป็น ครู สพฐ.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

มติบอร์ด ก.ค.ศ. เห็นชอบโอนพนักงานท้องถิ่น และ ขรก. อื่นย้ายมาเป็น ขรก. ครู สังกัด สพฐ. ตามเกณฑ์ที่ ก.ค.ศ. กำหนดได้ โดยต้องไม่มีชื่ออยู่ในบัญชีสอบแข่งขัน หรือ ขึ้นบัญชีรอบรรจุครูผู้ช่วย ที่สำคัญต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู หรือใบอนุญาตชั่วคราวที่ออกโดยคุรุสภา ระบุแนวทางดังกล่าวทำให้กลุ่มนี้ไม่ต้องสอบแข่งขันขึ้นบัญชีครูผู้ช่วยเช่นที่ผ่านมา ทั้งยังช่วยแก้ปัญหาขาดครู และทำให้ ร.ร. ได้คนที่มีประสบการณ์
พล.ร.อ.ณรงค์  พิพัฒนาศัย
วันนี้ (9 ก.พ.) พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมเห็นชอบร่างหลักเกณฑ์และวิธีการโอนพนักงานส่วนท้องถิ่นและข้าราชการอื่นมาบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู มีหลักการสำคัญ ดังนี้ 1. รับโอนมาบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งครู เท่านั้น 2. การรับโอนต้องไม่มีบัญชีผู้สอบแข่งขันได้หรือผู้ได้รับการคัดเลือกรอการบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งครูผู้ช่วย ในกลุ่มวิชา หรือสาขาวิชาเอกที่จะรับโอนในเขตพื้นที่การศึกษานั้นหรือเขตพื้นที่ฯ อื่น หรือบัญชีของส่วนราชการ แล้วแต่กรณี

3. ผู้ขอโอนต้องมีคุณสมบัติทั่วไป ตามมาตรา 30 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547, มีอายุไม่เกิน 50 ปี นับถึงวันสุดท้ายของการรับสมัคร, มีวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการศึกษา หรือทางอื่นที่ ก.ค.ศ. รับรองและกำหนดเป็นคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่ง, มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูที่ยังไม่หมดอายุ, ต้องเป็นพนักงานส่วนท้องถิ่นหรือข้าราชการอื่น ซึ่งได้รับการบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ใช้คุณวุฒิระดับปริญญาโดยผลการสอบแข่งขัน, ปัจจุบันต้องดำรงตำแหน่งสายงานการสอน สายงานบริหารสถานศึกษา สายงานนิเทศการศึกษา ตำแหน่งประเภทวิชาการ และข้าราชการทหาร ข้าราชการตำรวจ ชั้นยศไม่ต่ำกว่าสัญญาบัตร อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือรวมกันมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 ปี นับถึงวันสุดท้ายของการรับสมัคร, มีประสบการณ์การสอนหลังจากได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู หรือหลักฐานที่ใช้แสดงในการประกอบวิชาชีพครูตามที่คุรุสภาออกให้เพื่อปฏิบัติหน้าที่สอน มาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี และมีภาระงานการสอนขั้นต่ำตามที่ส่วนราชการที่รับโอนกำหนด ฯลฯ

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อว่า 4. ผู้ขอโอนต้องได้รับความยินยอมให้โอน จากผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้งของส่วนราชการ หรือหน่วยงานต้นสังกัดก่อน 5. สถานศึกษาที่จะรับโอน ต้องมีจำนวนตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สายงานการสอน ไม่เกินเกณฑ์อัตรากำลังที่ ก.ค.ศ. กำหนด 6. ให้สำนักงานเขตพื้นที่ฯหรือส่วนราชการ โดยอนุมัติ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา หรือ อ.ก.ค.ศ. ที่ ก.ค.ศ. ตั้งแล้วแต่กรณี เป็นผู้ดำเนินการรับโอน โดยประกาศรับสมัคร 7. ผู้ขอโอนต้องผ่านการประเมินความรู้ ความสามารถ และความเหมาะสมตามที่กำหนด 8. ผู้ผ่านการประเมินต้องได้คะแนนแต่ละข้อไม่ต่ำกว่า 60% และจะประกาศรายชื่อผู้ผ่านการประเมินเท่ากับจำนวนตำแหน่งว่างที่ประกาศรับโอน 9. ผู้ที่ได้รับอนุมัติให้โอนจะต้องมาปฏิบัติหน้าที่ในสถานศึกษาที่รับโอน ภายใน 45 วัน นับแต่วันที่ออกคำสั่งรับโอน หากพ้นระยะเวลาดังกล่าว ผู้รับโอนอาจยกเลิกการรับโอนได้ และ 10. ผู้ที่ได้รับการโอนมาบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งครู ต้องเข้ารับการพัฒนาตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ. กำหนด

ด้าน นางศิริพร กิจเกื้อกูล เลขาธิการ ก.ค.ศ. กล่าวว่า จากนี้ ก.ค.ศ. จะต้องไปทำรายละเอียด เพื่อเป็นแนวทางให้เขตพื้นที่ฯ นำไปปฏิบัติ หลักเกณฑ์ดังกล่าวเปิดโอกาสให้พนักงานส่วนท้องถิ่นและข้าราชการอื่นมาบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู สังกัด สพฐ. ได้ภายใต้หลักเกณฑ์ที่ ก.ค.ศ. กำหนด โดยไม่ต้องสอบขึ้นบัญชี เช่นเดิม ซึ่งจุดนี้จะทำให้สามารถบรรจุครูที่มีความรู้ความสามารถมีประสบการณ์ รวมถึงยังแก้ปัญหาขาดครู โดยเฉพาะในสาขาที่เป็นความต้องการ

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น