xs
xsm
sm
md
lg

จับตาองค์กร ส.ใหม่ ดึงงบเข้ากองทุนไม่กำหนดเพดาน คาดไม่ต่ำกว่า 4 พัน ล.ต่อปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นพ.ภูษิต ประคองสาย
จับตา องค์กร ส.ใหม่ เล็งของบเข้ากองทุนแบบปลายเปิดมหาศาล อ้างตั้งเพดานรับงบประมาณอาจส่งผลต่องานวิจัยที่ต้องการการพัฒนา เผยปีแรกดึงงบไม่ต่ำกว่า 1% จากงบ สธ.- สปสช.ได้รับ ปีถัดไปไม่ต่กว่า 2% ด้าน “หมอศิริวัฒน์” เสนอควรดึงงบมาถึง 5%

วันนี้ (5 ก.พ.) ที่สำนักงานสุขภาพแห่งชาติ (สช.) นพ.ภูษิต ประคองสาย รักษาการผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวถึงการยกร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยสุขภาพ พ.ศ. ... ว่า การออกร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวจะทำให้ สวรส. ถูกยุบไป เนื่องจาก สวรส. ทำหน้าที่เพียงวิจัยระบบสุขภาพ ซึ่งแคบกว่าสำนักงานใหม่ที่จะตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้ คือ “สำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยสุขภาพ” ซึ่งมีสถานะเป็นนิติบุคคลที่ขึ้นตรงกับสำนักนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่ดูแลงานวิจัยสุขภาพที่คลอบคลุมทุกมิติ ทั้งการกำหนดนโยบาย และจัดสรรทุนวิจัยสุขภาพ พัฒนาศักยภาพของนักวิจัย หรือผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพนำผลการวิจัยที่ได้ไปต่อยอด ทั้งนี้ จะได้งบประมาณประเดิม 1,000 ล้านบาทจากงบประมาณแผ่นดิน และในปีแรกให้สำนักงบฯ จัดสรรเข้ากองทุนฯ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 1 โดยคำนวณจากงบประมาณที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้รับ ส่วนปีถัดไปให้จัดสรรเข้ากองทุนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 2 ซึ่งต่อจากนี้จะมีเวทีพูดคุยทำความเข้าใจกัน ก่อนเสนอร่างให้ สธ.พิจารณานำเสนอตามขั้นตอนต่อไป

ด้าน นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล ที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่าน่าจะมีการดึงงบประมาณมาจาก สปสช. และ สธ. ในสัดส่วนที่มากกว่าที่กำหนด คือ อาจจะมากถึงร้อยละ 5 เพื่อสร้างงานวิจัยให้เกิดนวัฒกรรมทางการแพทย์ใหม่ๆ เพื่อให้เกิดการใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะ สปสช. ที่มีงบประมาณกว่าแสนล้านบาทน่าจะมีเงินสักก้อนมาทำงานตรงนี้

ผู้สื่อข่าวถามว่ากฎหมายกำหนดเพดานสูงสุดของการรับงบไว้หรือไม่ นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบวิจัยสุขภาพ กล่าวว่า สำนักงานที่จะตั้งใหม่นี้ยังบอกไม่ได้ว่าต้องการงบประมาณปีละเท่าไร ไม่อยากกำหนดตรงนี้ เพราะสมมติว่าในอนาคตประเทศไทยเกิดเจอสมุนไพรบางตัวที่ต้องการการพัฒนาอาจจะทำให้เกิดข้อจำกัดเรื่องงบประมาณได้ แต่เบื้องต้นเท่าที่คิดว่าน่าจะอยู่ที่ประมาณปีละ 4 พันล้านบาท

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น