xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายเยาวชนฯ วอน ก.ด้านสังคมจับมือร่วมแก้ปัญหารุนแรงในวัยรุ่น

เผยแพร่:

ตัวแทนมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ เข้าพบ รมว.พม. ยื่นข้อเสนอการแก้ไขปัญหาความรุนแรงของวัยรุ่น เปิดสายด่วนรับเรื่องดูแลรวดเร็ว  หนุนเครือข่ายจัดกิจกรรมใน-นอกสถานศึกษา บูรณาการร่วม สธ. -ศธ. กำหนดหลักสูตรแก้ปัญหาเน้นความเท่าเทียมทางเพศ

วันนี้ (17 พ.ย.) พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  (รมว.พม.) กล่าวว่า นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล พร้อมด้วยตัวแทนเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ และเครือข่ายลด ละ เลิกเหล้า ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก จำนวนกว่า 30 คน เข้าพบ เพื่อยื่นข้อเสนอเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาความรุนแรงของวัยรุ่น และได้นำเสนอผลสำรวจ “สถานการณ์ความรุนแรงในคู่รักวัยรุ่น” ในเยาวชนหญิงอายุระหว่าง 17 - 25 ปี จำนวน 1,204 ตัวอย่าง ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งกลุ่มตัวอย่างมีประสบการณ์ความรุนแรงจากคู่รัก เช่น ทำลายข้าวของ ร้อยละ 75 ทำร้ายร่างกาย ร้อยละ 74 กักขังหน่วงเหนี่ยว ร้อยละ 71.6 การตั้งครรภ์ไม่พร้อม ร้อยละ 68.8 เป็นต้น และจากการสอบถามเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหา พบว่า ผู้ประสบปัญหาความรุนแรงจากคู่รักต้องการขอความช่วยเหลือจากศูนย์ช่วยเหลือสังคม OSCC 1300 ร้อยละ 29.1 

นอกจากนี้ ในส่วนของข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาความรุนแรงของคู่รักในวัยรุ่น เสนอให้ พม. เปิดช่องทางการให้คำปรึกษาหลากหลายช่องทาง ร้อยละ 22.6 สถานศึกษามีศูนย์ให้คำปรึกษาที่เข้าใจ/เข้าถึงได้ง่าย ร้อยละ 22.4 เมื่อเกิดเหตุการณ์วิกฤตมีหน่วยงานรัฐให้ความช่วยเหลือได้ทันท่วงที ร้อยละ 21.9 หน่วยงานราชการควรสนับสนุนกิจกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาของวัยรุ่น ร้อยละ 17.1 และจัดทำหลักสูตรให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องความเท่าเทียมทางเพศในสถานศึกษา ร้อยละ 16 

พล.ต.อ. อดุลย์ กล่าวต่อว่า สำหรับข้อเสนอที่ตัวแทนเครือข่ายฯ นำมายื่นให้ตน มี 1. สายด่วน 1300 ของศูนย์ช่วยเหลือสังคม OSCC ได้เป็นที่รู้จักของประชาชน ควรมีระบบรองรับในการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาที่รวดเร็ว เร่งด่วน ทันท่วงที มีประสิทธิภาพ รวมถึงควรมีบุคลากรที่เป็นข้าราชการประจำ โดยอยู่ในโครงสร้างของสำนักปลัดกระทรวง ให้เป็นองค์กรหลักซึ่งสามารถบูรณาการเชื่อมโยงหน่วยงานต่างๆ ในการช่วยเหลือและเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ประสบปัญหา อีกทั้งควรจัดระบบการให้บริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 2. สนับสนุนเครือข่ายเยาวชนให้เป็นเครือข่ายที่เข้มแข็ง เพื่อให้สามารถช่วยเหลือกันเองในระดับเบื้องต้นในการเผชิญปัญหาความรุนแรงของคู่รักในวัยรุ่น โดยเน้นการทำกิจกรรมเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาทั้งในสถานบันการศึกษาและนอกสถาบันการศึกษา และ 3. ควรบูรณาการร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงศึกษาธิการในการจัดทำหลักสูตรทักษะชีวิตเพื่อแก้ไขปัญหาความรุนแรงของคู่รักในวัยรุ่น โดยเน้นประเด็นการเคารพสิทธิและความเท่าเทียมระหว่างเพศ  รวมถึงการจัดระบบการแนะแนวในสถาบันการศึกษาทั้งในระดับมัธยมศึกษาและระดับอุดมศึกษา เพื่อให้มีกลไกการให้คำปรึกษา  ช่วยเหลือกับนักเรียนนักศึกษาที่ประสบปัญหาความรุนแรงของคู่รักในวัยรุ่นอย่างเข้าใจและเป็นมิตร

“พม. พร้อมรับข้อเสนอไปพิจารณา และดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การป้องกันแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสังคมมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนต่อไป” รมว.พม. กล่าว
 
 
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น