xs
xsm
sm
md
lg

เด็กจมน้ำช่วงลอยกระทงเพิ่ม 3 เท่า แนะพ่อแม่ดูแลลูกใกล้ชิดระวังเล่นพลุ ดอกไม้ไฟ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แนะลอยกระทงในสถานที่ปลอดภัย ดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติภัยทางน้ำในช่วงเทศกาลวันลอยกระทง เตือนระวังอุบัติภัยจากพลุ ดอกไม้ไฟ ชี้ดัดแปลง ให้มีเสียงดังหรือแรงอัดสูง อาจระเบิดที่มีความรุนแรงอันตรายถึงชีวิต แนะเล่นถูกวิธีคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก

 
 
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า เทศกาลลอยกระทงเป็นช่วงที่เด็กไทยมีอัตราการจมน้ำเสียชีวิตมากที่สุดในรอบปี โดยสถิติการจมน้ำเสียชีวิตของเด็กไทยเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า ของช่วงปกติ ซึ่งกว่าร้อยละ 40 มีสาเหตุจากเด็กลงไปเก็บเงินในกระทง และพลัดตกน้ำจากการลอยกระทง เพื่อความปลอดภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะข้อควรปฏิบัติในการป้องกันอุบัติภัยทางน้ำในเทศกาลวันลอยกระทง ดังนี้ พาเด็กไปลอยกระทงในสถานที่ปลอดภัย ท่าน้ำและโป๊ะเรือมั่นคงแข็งแรง ตลิ่งน้ำไม่สูงชัน เพื่อป้องกันการลื่นไถลพลัดตกน้ำ หลีกเลี่ยงการลอยกระทงบริเวณตลิ่งดิน เพราะเสี่ยงต่อการทรุดตัว ทำให้พลัดตกน้ำได้ ดูแลเอาใจใส่เด็กอย่างใกล้ชิดไม่ปล่อยให้เด็กคลาดสายตา โดยเฉพาะเมื่อเด็กอยู่ใกล้แหล่งน้ำหรือขอบสระ ไม่ควรให้เด็กนำกระทงไปลอยน้ำด้วยตนเอง รวมถึงควรจูงมือเด็กให้แน่นขณะเดินบริเวณริมน้ำ เพื่อป้องกันเด็กพลัดตกน้ำ ดูแลไม่ให้เด็กลงน้ำเพื่อเก็บเงินในกระทง เพราะเด็กอาจถูกกระแสน้ำพัดจมน้ำหรือเป็นตะคริวจากการอยู่ในน้ำเป็นเวลานาน ทำให้จมน้ำเสียชีวิตได้ กรณีนั่งเรือ ไปลอยกระทงกลางลำน้ำ ไม่ควรลงไปในโป๊ะหรือเรือที่มีคนจำนวนมาก เพื่อป้องกันโป๊ะล่มหรือถูกเบียดพลัดตกน้ำ ควรรอเรือจอดเทียบท่าก่อนแล้วจึงขึ้นลงเรืออย่างเป็นระเบียบ ไม่แย่งกันขึ้นลงเรือ เพราะขณะที่เรือจอดเทียบท่า คลื่นอาจซัดโป๊ะโคลงเคลง ทำให้เสียการทรงตัวพลัดตกน้ำได้ ทั้งนี้ การเรียนรู้ข้อควรปฏิบัติในการลอยกระทงอย่างปลอดภัย จะช่วยลดความเสี่ยง ต่อการเกิดอุบัติภัยทางน้ำในช่วงเทศกาลวันลอยกระทง

นายฉัตรชัย กล่าวอีกว่า ส่วนการบาดเจ็บจากเปลวไฟหรือสะเก็ดจากแรงระเบิดของพลุและดอกไม้เพลิงในช่วงเทศกาลลอยกระทงจะสูงกว่าช่วงปกติถึง 24 - 30 เท่า โดยส่วนใหญ่มีสาเหตุจากการเล่นอย่างไม่ถูกวิธี คึกคะนอง และความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพื่อความปลอดภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะข้อควรปฏิบัติในการป้องกันอุบัติภัยจากพลุ และดอกไม้เพลิง ห้ามดัดแปลงพลุ ดอกไม้เพลิงให้มีเสียงดังหรือแรงอัดสูง โดยไม่นำวัสดุที่มีความแหลมคม เช่น ตะปู เศษแก้ว บรรจุเข้าไปในพลุ ดอกไม้เพลิง เพราะจะเกิดการระเบิดที่มีความรุนแรง ก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิต ห้ามจุดพลุ ดอกไม้เพลิงในกระป๋องโลหะ ท่อพีวีซี ขวดแก้ว หรือนำภาชนะอื่นๆ มาปิดครอบพลุ ดอกไม้เพลิงที่จุดไฟติดแล้ว เพราะจะส่งผลให้สะเก็ดไฟ หรือเศษภาชนะที่แตกกระจายกระเด็นใส่ได้รับบาดเจ็บ

นายฉัตรชัย กล่าวต่อว่า ควรเล่นพลุ ดอกไม้เพลิงอย่างถูกวิธี โดยปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากอย่างเคร่งครัด เพิ่มความระมัดระวังในการจุดพลุ ดอกไม้เพลิงเป็นพิเศษ ให้สัญญาณก่อนจุดพลุ ดอกไม้เพลิงทุกครั้ง เพื่อเตือนให้ออกห่างจากบริเวณดังกล่าว จะช่วยป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ เล่นพลุ ดอกไม้เพลิงโดยคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก ห้ามจุดพลุ ดอกไม้เพลิงในพื้นที่เสี่ยงอันตราย โดยเฉพาะบริเวณใกล้แนวสายไฟฟ้า สถานีบริการน้ำมัน วัตถุไวไฟ เพราะจะทำให้เกิดระเบิดและเพลิงไหม้ ควรจุดที่โล่งแจ้ง ห่างจากชุมชน เพื่อป้องกันสะเก็ดไฟตกใส่บ้านเรือน ทำให้เกิดเพลิงไหม้ รวมถึงจัดเตรียมถังน้ำไว้ใกล้ ๆ เพื่อใช้ดับไฟกรณีสะเก็ดไฟกระเด็นไปติดวัสดุ ทำให้เพลิงลุกลามไหม้บ้านเรือน หลีกเลี่ยงการเล่นในลักษณะเสี่ยงอันตราย ไม่เก็บพลุ ดอกไม้เพลิงไว้ในที่ร้อน แสงแดดส่องถึงและบริเวณที่มีประกายไฟ เพราะสะเก็ดไฟอาจกระเด็นมาติด ทำให้เกิดระเบิดและ เพลิงไหม้ได้ ไม่ยื่นหน้าหรืออวัยวะต่างๆ เข้าใกล้พลุ ดอกไม้เพลิงที่จุดแล้ว ห้ามโยนพลุ ดอกไม้เพลิงที่จุดแล้วใส่กลุ่มคน เพราะจะก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ ทั้งนี้การเรียนรู้ข้อควรปฏิบัติในการเล่นพลุ ดอกไม้เพลิงอย่างปลอดภัย จะช่วยลดความสูญเสียจากอุบัติภัยในช่วงเทศกาลวันลอยกระทง

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่

Loading

เครื่อง oncothermia ความหวังใหม่รักษามะเร็งเต้านม-ตับระยะท้าย ใช้คลื่นวิทยุยิงเฉพาะจุดมะเร็งจนเกิดความร้อน เอื้อยาเคมีบำบัดเข้าถึงมะเร็งง่ายขึ้น ผลศึกษาก้แนมะเร็งเต้านมยุบทั้งหมด 22% ผู้ป่วยมะเร็งตับอายุยืนขึ้น

View on Instagram




กำลังโหลดความคิดเห็น