xs
xsm
sm
md
lg

วิธีเลือกกล่องทีวีดิจิตอลให้ได้ “คุณภาพ-คุ้มราคา” จี้ กสทช.เคลียร์ล่าสำเนาบัตร ปชช.รับกล่องแทน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.วีรพันธ์ รังสีวิจิตรประภา อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นักวิชาการแนะวิธีซื้อกล่องทีวีดิจิตอลให้ได้ของมีคุณภาพ และคุ้มค่าคูปอง 690 บาท ย้ำกล่องแบบแจ็กเดี่ยวรับสัญญาณดาวเทียมใช้คูปองแลกไม่ได้ ระวังถูกหลอก! ด้านมูลนิธิผู้บริโภคย้ำอย่ารีบด่วนซื้อ ให้พิจารณาให้ดี เชื่อหลัง 20 ต.ค. ราคาลงอีก มีแนวโน้มแข่งกันที่ของแถม จี้ กสทช. แก้ปัญหาล่าสำเนาบัตรประชาชนรับกล่อง



ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ดำเนินการแจกคูปองกล่องทีวีดิจิตอลราคา 690 บาทล็อตแรก จำนวน 4.645 ล้านฉบับ ให้แก่ 4.645 ล้านครัวเรือน นำร่องใน 21 จังหวัด เมื่อวันที่ 10 ต.ค. ที่ผ่านมา เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านการรับชมโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ซึ่งคูปองดังกล่าวสามารถนำไปใช้ได้ตั้งแต่วันที่ 20 ต.ค. 2557 - 31 พ.ค. 2558 และพบว่ามีประชาชนโทรศัพท์เข้ามาร้องเรียนปัญหาต่างๆ แล้วกว่า 1,000 ราย เช่น เก็บรวบรวมบัตรประชาชนทั้งหมู่บ้านแล้วอ้างว่า จะนำไปแลกกล่องรับสัญญาณ ประชาชนได้คูปองไม่ครบ 3 ส่วนที่จัดส่ง เป็นต้น

วันนี้ (14 ต.ค.) เมื่อเวลา 10.30 น. ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ดร.วีรพันธ์ รังสีวิจิตรประภา อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในการแถลงข่าว “แนะวิธีเลือกซื้อกล่องทีวีดิจิตอลที่คุ้มค่าต่อผู้บริโภค” ว่า การเปลี่ยนระบบจากทีวีอนาล็อกเป็นทีวีดิจิตอล จำเป็นต้องมีอุปกรณ์แปลงสัญญาณให้ทีวีในอดีตสามารถรับสัญญาณดิจิตอลได้ ซึ่งขณะนี้ กสทช. ได้แจกคูปองราคา 690 บาท ในการแลกกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอล ซึ่งข้อควรระวังคือ กล่องทีวีดิจิตอลที่จะสามารถใช้คูปองแลกได้ จะต้องเป็นกล่องที่มีช่องเสียบรับสัญญาณภาคพื้นดิน หรือช่องรับสัญญาณเสาอากาศ และช่องเสียบส่งต่อสัญญาณไปยังโทรทัศน์ คือเป็นแจ็กคู่เท่านั้น ดังนั้น หากมีผู้มาให้ข้อมูลว่ากล่องแบบแจ็กเดี่ยว ซึ่งเป็นการรับสัญญาณจากดาวเทียมนั้นสามารถแลกซื้อได้นั้นอย่าหลงเชื่อ เพราะหากใช้คูปองไปแล้วอาจไม่ได้รับการชดเชยเงิน

ดร.วีรพันธ์ กล่าวอีกว่า สำหรับการเลือกซื้อกล่องทีวีดิจิตอลให้คุ้มค่ากับคูปอง 690 บาทนั้น มีเกณฑ์ในการพิจารณา ดังนี้ 1. มาตรฐานของกล่อง สังเกตได้จากสติกเกอร์น้องดูดี ซึ่งเป็นสติกเกอร์ของ กสทช. หากมีสติกเกอร์ดังกล่าวหมายถึงผ่านมาตรฐานเบื้องต้น โดยกล่องมาตรฐานจะต้องมีช่องเสียบแจ็กคู่ รองรับโทรทัศน์ที่ใช้เสาอากาศ ช่องเสียบสัญญาณ AV คือ ช่องสัญญาณภาพ และเสียงซ้ายขวา รวม 3 ช่อง สำหรับทีวีจอแบนรุ่นแรก และช่องเสียบพอร์ต HDMI สำหรับทีวีรุ่นใหม่ ซึ่งจะช่วยให้การรับชมได้คุณภาพความคมชัดสมบูรณ์ขึ้น รวมไปถึงช่องเสียบยูเอสบีที่หน้ากล่องด้วย อย่างไรก็ตาม กล่องบางรุ่นอาจมีสเปกแบบคอมโบ คือ มีช่องเสียบสัญญาณจากจานดาวเทียมด้วย แต่มีราคาแพง 2. กล่องที่ดีควรมีเสาอากาศในตัว ซึ่งบางรุ่นอาจแถมมา หรือมีการขายแยกทำให้ราคาสูงขึ้น เพราะการรับสัญญาณจำเป็นที่จะต้องอาศัยเสาอากาศ แต่หากที่บ้านมีจานดาวเทียมอยู่แล้ว หรือมีเสาอากาศแบบก้างปลาหรือหนวดกุ้งก็อาจไม่จำเป็น

ดร.วีรพันธ์ กล่าวว่า 3. ควรเลือกกล่องที่ต่อสายอแดปเตอร์มากกว่ากล่องที่มีสายไฟในตัว เนื่องจากกล่องที่มีสายไฟในตัวเป็นการใช้งานจากการเสียบปลั๊กตรง มีส่วนจ่ายพลังงานไฟฟ้าภายในกล่อง ซึ่งหากตัวจ่ายไฟเสียเท่ากับว่าจะต้องซื้อกล่องใหม่ แต่หากเป็นกล่องที่ใช้อแดปเตอร์ เมื่อใช้ประมาณ 3 - 5 ปี แล้วอแดปเตอร์เกิดเสีย ซึ่งหมดอายุรับประกันไปแล้ว ยังสามารถซื้ออแดปเตอร์ใหม่ได้ โดยที่ไม่ต้องเปลี่ยนกล่องใหม่ อย่างไรก็ตาม การเลือกซื้อกล่องทีวีดิจิตอลที่ใช้สายอแดปเตอร์จะต้องอ่านฉลากข้างกล่องกระดาษของกล่องทีวีดิจิตอลด้วยว่าเครื่องใช้ไฟขนาดเท่าไร และต้องดูตัวอแดปเตอร์ด้านหลังกำลังจ่ายไฟเป็นเท่าไร ซึ่งกำลังจ่ายไฟจะต้องมากกว่าหรือเท่ากับปริมาณการกินไฟของกล่อง หากน้อยกว่าอาจทำให้เสียหายได้

ดร.วีรพันธ์ กล่าวว่า 4. ตัวกล่องต้องมีปุ่มเปิดปิด หรือปุ่มเปลี่ยนช่อง เพราะหากรีโมตเสียหายหรือใช้งานไม่ได้ ยังสามารถรับชมทีวีดิจิตอลได้โดยใช้ปุ่มกดจากกล่อง แต่หากไม่มีปุ่มกดที่กล่องเวลาเปิดปิดอาจต้องอาศัยการเสียบถอดปลั๊ก ซึ่งอาจส่งผลความเสียหายแก่กล่องได้ 5. รีโมตต้องเป็นไปตามมาตรฐาน กสทช. คือ ปุ่มสัมผัสเลข 5 จะต้องเป็นปุ่มนูนเพื่อเป็นปุ่มสังเกตอ้างอิง สำหรับผู้มีปัญหาได้การมองเห็น และ 6. คู่มือการใช้งานกล่องทีวีดิจิตอลต้องมีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษตามกำหนดของ กสทช.

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า พวกเรามีความกังวลว่าจะมีบริษัทใดขายกล่องทีวีดิจิตอลในราคา 690 บาทหรือไม่ จึงทำจดหมายชักชวน 52 บริษัทจำหน่ายกล่องทีวีดิจิตอลที่จะขึ้นทะเบียนรับคูปองกับ กสทช. ว่ามีรายใดบ้างยินดีขายในราคา 690 บาท ซึ่งขณะนี้มีตอบรับมาแล้ว 4 บริษัท ว่าจะขายกล่องทีวีดิจิตอลในราคา 690 บาท แต่จะมีการแถมเสาอากาศ มีปุ่มเปิดปิด หรือไม่นั้นต้องพิจารณา โดยขอแนะนำว่าไม่ควรรีบซื้อ เพราะเชื่อว่าหลังจากวันที่ 20 ต.ค. เป็นต้นไป ราคากล่องทีวีดิจิตอลที่มีราคาแพงอาจถูกลง ซึ่งจะไม่ต่ำไปกว่า 690 บาท แต่จะเกิดการแข่งขันที่ของแถม

น.ส.สารี กล่าวว่า สำหรับประชาชนที่จะใช้คูปองทีวีดิจิตอลได้นั้น จะต้องเป็นเจ้าบ้านเท่านั้น คูปองจึงไม่สามารถใช้แทนกันได้ โดยขั้นตอนการใช้ก่อนอื่นควรอ่านเอกสารก่อนว่าจะต้องเตรียมอะไรบ้าง และเมื่อพิจารณาเลือกได้แล้วว่าจะซื้อกล่องทีวีดิจิตอลยี่ห้อใด จึงนำสำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาบัตรประชาชน พร้อมคูปองไปแลก สำหรับปัญหาประชาชนได้คูปองไม่ครบส่วนอาจเกิดจากความผิดพลาดในการผลิตหรือขนส่ง หรือหากถูกคนเอาไปก็เอาไปแลกใช้เองไม่ได้ เพราะผู้ใช้ต้องเป็นเจ้าบ้าน ต้องมีทั้งสำเนาบัตรประชาชนและทะเบียนบ้าน ที่ควรดำเนินการคือไปแจ้งไปรษณีย์หรือ กสทช.ถึงความผิดพลาดที่เกิดขึ้น

สำหรับคนที่ไม่มีทะเบียนบ้าน อยู่ในชุมชนแออัดหรือบุกรุกพื้นที่ ซึ่งเป็นคนจำนวนมากที่ต้องการรับชมทีวี ก็ควรดูแลคนกลุ่มนี้ด้วย โดยมองว่า กสทช.ต้องทำโครงการร่วมกับองค์กรของกลุ่มคนเหล่านี้ หากไม่ดำเนินการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจะเตรียมทำโครงการให้คนที่มีทุกอย่างพร้อมแล้ว ขอให้ไปแลกรับกล่องทีวีดิจิตอลด้วยตนเอง แล้วนำมาบริจาค” น.ส.สารี กล่าว

น.ส.ชลดา บุญเกษม อนุกรรมการด้านสื่อและโทรคมนาคม คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน กล่าวว่า ส่วนใหญ่ชาวบ้านยังไม่ทราบข้อมูลเกี่ยวกับคูปอง รวมไปถึงอาจเกิดการหลอกลวงขึ้นได้ เพราะจากการทำงานในพื้นที่ภาคกลาง โดยเฉพาะ จ.พระนครศรีอยุธยา พบว่า มี 3 อำเภอที่มีบริษัทที่ขายกล่องทีวีดิจิตอลเข้ามาประสานกับผู้นำชุมชน ให้ชาวบ้านมาลงชื่อ โดยอ้างว่าจะดำเนินการแทนให้ รวมถึงอ้างว่าหากไม่ลงชื่อจะไม่ได้รับกล่อง ชาวบ้านซึ่งไม่เข้าใจก็ไปลงชื่อ ยิ่งตอนนี้ กสทช. เริ่มแจกคูปองแล้ว ก็มีการเก็บคูปองไปด้วยก็มี อย่างไรก็ตาม คงไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่าบริษัทเหล่านี้หลอกลวงหรือไม่ แต่ประชาชนเสียประโยชน์เพราะยังไม่เคยเห็นสภาพของกล่องทีวีดิจิตอลมาก่อน ซึ่งอาจไม่มีคุณภาพก็ได้ และจะเป็นปัญหาในอนาคต ตรงนี้เราทำได้เพียงแต่ให้ข้อมูลและแจ้งเตือน จึงอยากให้ กสทช. ลงมาจัดการในเรื่องนี้ และเร่งให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ประชาชน สำหรับอนาคตหากเกิดปัญหาขึ้นจริงก็คงต้องประสานให้ กสทช. ช่วยเหลือ
ลักษณะกล่องทีวีดิจิตอลที่ได้มาตรฐาน ต้องมีช่องเสียบครบ 3 แบบ ทั้งแจ๊คคู่สำหรับทีวีใช้เสาอากาศ ช่องเสียบสัญญาณ AV สำหรับทีวีจอแบน และพอร์ต HDMI สำหรับทีวรุ่นใหม่










ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่

Loading

เครื่อง oncothermia ความหวังใหม่รักษามะเร็งเต้านม-ตับระยะท้าย ใช้คลื่นวิทยุยิงเฉพาะจุดมะเร็งจนเกิดความร้อน เอื้อยาเคมีบำบัดเข้าถึงมะเร็งง่ายขึ้น ผลศึกษาก้แนมะเร็งเต้านมยุบทั้งหมด 22% ผู้ป่วยมะเร็งตับอายุยืนขึ้น

View on Instagram




กำลังโหลดความคิดเห็น