เครือข่ายเยาวชนฯ ร้อง กทม. จัดระเบียบร้านเหล้าโชวห่วย - สะดวกซื้อ จงใจขายเหล้าให้เด็ก พร้อมโชว์ผลสำรวจ 83.87% เด็กซื้อน้ำเมาได้สำเร็จ ใช้เวลาเพียง 2 นาที ไม่ปฏิเสธแม้เห็นเด็กอยู่ในชุดนักเรียน พบร้านค้าเกินครึ่งไม่ติดป้ายคำเตือนในจุดที่มองเห็น
วันนี้ (10 ต.ค.) ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร นายธีรภัทร์ คหะวงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ พร้อมด้วย เครือข่ายเยาวชนสร้างสรรค์รู้ทันแอลกอฮอล์ เครือข่ายเกสรชุมชน กรุงเทพฯ กว่า 30 คน เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกต่อ ดร.ผุสดี ตามไท รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เรียกร้องให้เข้มงวดและตรวจสอบร้านค้าที่ทำผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 กรณีขายเหล้าให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี รวมถึงควบคุมปัจจัยเสี่ยง เหล้า บุหรี่ พนัน สิ่งเสพติด สื่อไม่เหมาะสม ที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน
นายธีรภัทร์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ เครือข่ายเยาวชนฯได้เปิดเผยข้อมูลการลงสุ่มพื้นที่รอบมหาวิทยาลัย10แห่งในพื้นที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 1 - 7ก.ย. 57 เพื่อทดลองซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จำนวน 62 ร้าน แบ่งเป็นร้านสะดวกซื้อแบรนด์ดัง 23 ร้าน โชวห่วย 39 ร้าน โดยเก็บหลักฐานเป็นคลิปวิดีโอ ซึ่งผู้ที่ล่อซื้อเป็นเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปีแต่งกายในชุดนักเรียนทั้งชายและหญิง ได้เข้าไปขอซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปรากฏว่า ส่วนใหญ่คือ83.87%ต่างขายให้เด็ก มีเพียงร้านที่ไม่ขายให้เด็ก 10 ร้าน คิดเป็น 16.13% ทั้งนี้ หากพิจารณา ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นในพื้นที่ กทม. มานานแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไข และจนถึงตอนนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดจริงใจแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม
“จากหลักฐานยืนยันได้ว่า เด็กสามารถซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้สำเร็จเพียง 1 - 2 นาทีเท่านั้น ร้านค้าส่วนใหญ่ไม่สอบถามอายุ ไม่ขอดูบัตรประชาชน เกินครึ่งไม่ติดป้ายคำเตือนเกี่ยวกับกฎหมายห้ามขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี บางร้านคนขายห่อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็กด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์”นายธีรภัทร์ กล่าว
ทั้งนี้ จากปัญหาที่เกิดขึ้นถือว่าอยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบของ กทม. โดยตรง ดังนั้น เครือข่ายเยาวชนฯจึงขอเสนอ 5 ข้อ เพื่อให้ กทม. นำไปพิจารณา ดังนี้ 1. เร่งประชาสัมพันธ์กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเฉพาะกรณีการห้ามขายเหล้าให้เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี 2. เร่งทำความเข้าใจกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่ผู้ประกอบการในพื้นที่ กทม. โดยเฉพาะร้านสะดวกซื้อชื่อดัง ที่ยังพบการฝ่าฝืนทำผิดกฎหมาย ทั้งนี้ เพื่อให้ กทม. เป็นพื้นที่ต้นแบบที่ผู้ประกอบการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดในการปกป้องเด็กและเยาวชน 3. เครือข่ายฯขอสนับสนุนให้ กทม. พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันจากอบายมุข เหล้า บุหรี่ การพนัน ยาเสพติด รวมถึงการเท่าทันสื่อ และควรออกแบบกิจกรรมหรือกระบวนการเรียนการสอนที่เพิ่มทักษะชีวิต โดยเริ่มตันตั้งแต่ระดับประถมศึกษา 4. ขอเรียกร้องให้ กทม. และหน่วยงานในสังกัดระมัดระวังการรับทุนสนับสนุน หรือร่วมกิจกรรมกับกลุ่มธุรกิจแอลกอฮอล์ในทุกรูปแบบ เพื่อเป็นแบบอย่างและป้องกันการฉวยโอกาสสร้างภาพลักษณ์ของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งอาจนำไปสู่การกระทำที่ผิดกฎหมายด้วย และ 5. ขอให้คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กรุงเทพฯเป็นแบบอย่างการทำงานอย่างต่อเนื่อง บังคับใช้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 อย่างมีประสิทธิภาพ ลดปัญหาจากน้ำเมาได้อย่างเป็นรูปธรรม
ดร.ผุสดี กล่าวภายหลังรับข้อเรียกร้องว่า จะรับข้อเสนอจากเครือข่ายเยาวชนฯ ไว้พิจารณาเพื่อหาแนวทางแก้ไขต่อไป ทั้งนี้ ยอมรับว่า อัตราการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของวัยรุ่นมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะวัยรุ่นหญิง ซึ่ง กทม. มีหน้าที่ดูแลภาพกว้าง จะเน้นเฝ้าระวังรณรงค์ประชาสัมพันธ์เชิงบวก เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น การรู้เท่าทันสื่อ ปัญหายาเสพติด ท้องไม่พร้อม รวมถึงสำนักการศึกษา ก็มีหน้าที่ควบคุมเรื่องนี้โดยตรง สำหรับแนวทางหลักที่ กทม. ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง คือ ประชุมหารือกับสำนักงานเขต 50 เขต สถานีตำรวจใน กทม. 88 สถานี เป็นระยะ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้เยาวชนลดปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่