สช. ยันไม่เคยละเลยคุมคุณภาพ ร.ร. เอกชน ชี้กรณี ร.ร. ปิดตัวไม่เกี่ยวกับจำนวนเด็กเข้าเรียนลด ส่วนใหญ่มาจากปัญหาการบริหารหรือเรื่องมรดก เผยเตรียมคัด 20 ร.ร. ยกระดับเป็นร.ร. มาตรฐานสากลครั้งแรกของ สช. สนองนโยบาย รมว.ศึกษาธิการ
นายบัณฑิตย์ ศรีพุทธางกูร เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (เลขาธิการ กช.) เปิดเผยว่า ตามที่ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีนโยบายที่จะผลักดันให้เกิดโรงเรียนมาตรฐานสากลนั้น ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ได้กำหนดเป้าหมายและจะดำเนินการคัดเลือกโรงเรียนเอกชนในสังกัด สช. ประมาณ 20 แห่ง เพื่อยกระดับให้เป็นโรงเรียนมาตรฐานสากล ซึ่งโรงเรียนที่ได้รับการคัดเลือก สช. พิจารณาแล้วว่ามีการจัดการเรียนการสอนด้วยระบบคุณภาพ และมีรูปแบบที่ทันสมัยเทียบเคียงกับระดับสากล ดังนั้น โรงเรียนเหล่านี้จะเป็นต้นแบบของการจัดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้โรงเรียนอื่นๆ นำไปต่อยอดและพัฒนาให้เป็นโรงเรียนมาตรฐานสากลได้เช่นเดียวกัน ทั้งนี้ ต้องถือเป็นครั้งแรกที่ สช. ได้ดำเนินการให้มีโรงเรียนมาตรฐานสากล
เลขาธิการ กช. กล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางการควบคุมคุณภาพโรงเรียนเอกชนนั้น ที่ผ่านมา สช. ไม่ได้ละเลยปัญหา แม้ว่าจะมีกรณีโรงเรียนเอกชนหลายแห่งต้องปิดกิจการลงก็ตาม แต่ส่วนใหญ่มักเกิดจากการบริหารงานของเจ้าของโรงเรียนเอง หรือปัญหาเรื่องมรดกในกลุ่มของญาติพี่น้อง ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการที่เด็กมาสมัครเรียนโรงเรียนเอกชนลดลงถึงต้องปิดกิจการ ยืนยันไม่ใช่ประเด็นนี้แน่นอน ทั้งนี้ ตามหลักการเมื่อมีการขออนุญาตจัดตั้งโรงเรียนเอกชน สช. ก็จะจัดส่งเจ้าหน้าที่ประเมินภายในเข้าไปตรวจสอบคุณภาพไม่ว่าจะเป็นบุคลากร ครู หรือระบบการจัดการเรียนการสอน และผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นกับผู้เรียน
“สิ่งสำคัญคือโรงเรียนเอกชนจะมีคุณภาพมากน้อยแค่ไหนนั้น ผู้ปกครองจะช่วยตัดสินเองว่าโรงเรียนใดมีคุณภาพเหมาะสมกับบุตรหลานของตนเองมากที่สุด โดย สช. ได้แบ่งกลุ่มโรงเรียนออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มโรงเรียนระดับดีมาก ระดับกลาง และระดับปรับปรุง ซึ่งกลุ่มโรงเรียนที่ต้องปรับปรุง สช. ได้พยายามเคี่ยวเข็ญจนเกินเยียวยาแล้ว และมีอยู่ประมาณ 3 โรงเรียนที่ไม่ได้คุณภาพ จนต้องสั่งปิดโรงเรียน” เลขาธิการ สช. กล่าว
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่