มนุษย์ทุกคนล้วนเกิดมาอยากสมบูรณ์พร้อม แต่เมื่อต้องกลายเป็น “ผู้พิการ” ก็ไม่ใช่อุปสรรคใหญ่ในการดำรงชีวิต เพียงแต่ต้องปรับสภาพจิตใจให้อยู่กับร่างกายที่ไม่สมบูรณ์ให้ได้ ท้อแท้ หมดกำลังได้ แต่ต้องไม่หมดศรัทธาในการมีชีวิตอยู่ทั้งเพื่อตนเองแลผู้อื่น
เพื่อให้ผู้พิการได้สามารถดำรงชีวิตอยู่ด้วยคุณภาพชีวิตที่ดีนั้น หลายหน่วยงานได้ให้ความสำคัญกับการดูแลผู้พิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นับเป็นหน่วยงานหนึ่งให้การสนับสนุนงบประมาณ ครอบคลุมทั้งการจัดบริการเพื่อให้กลุ่มผู้พิการเข้าถึงบริการฟื้นฟูและบริการที่จำเป็นได้อย่างครอบคลุม ทั้งในการฟื้นฟูสภาพ การรับเครื่องช่วยของคนพิการ รวมทั้งจัดงบประมาณสนับสนุนให้หน่วยบริการ องค์กรคนพิการได้นำมาพัฒนาเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน สร้างกระบวนการพัฒนาที่มีส่วนร่วมของภาคีในพื้นที่
หลังจากต้องกลายเป็นผู้พิการจากอุบัติเหตุ นายโยทัย ภูกาสอน ผู้พิการอัมพาตท่อนล่าง อายุ 51 ปี ชาวกาฬสินธุ์ อดีตเป็นนายช่างโยธา โครงการพัฒนาป่าดงใหญ่ จ.อุบลราชธานี เป็นโครงการร่วมระหว่าง สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ของไทยกับออสเตรเลีย ที่ปัจจุบันรับจ้างเขียนแบบ และรับเหมาก่อสร้างในพื้นที่ และยังเป็นหนึ่งในผู้มีจิตอาสาช่วยดูแลเพื่อนผู้พิการแบบ “มิตรภาพบำบัด” เพราะไม่มีใครจะรู้ใจคนพิการเท่ากับคนพิการด้วยกันเองอีกแล้ว
นายโยทัย เล่าว่า อาชีพนายช่างโยธากำลังรุ่งเรือง มีชีวิตที่สุขสบาย ต้องมาพลิกผันเมื่อประสบอุบัติเหตุรถยนต์ เมื่อ 12 ธันวาคม 2535 หลังกลับจากประชุมร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่ ผลจากอุบัติเหตุครั้งนั้นทำให้กระดูกช่วงอกที่ 11 - 12 หัก จนกลายเป็นอัมพาตครึ่งช่วงล่าง จากที่เคยเดินเหินได้ ต้องมานั่งรถเข็นแทน
“ 3 ปีแรกที่เกิดอุบัติเหตุ ไม่ออกจากบ้านไปไหนเลย ไม่มีกำลังใจ คิดถึงความโชคร้ายของตัวเอง ที่ต้องมาพิการเสียตั้งแต่ยังหนุ่มแน่น วันหนึ่งก็มาฉุกคิดว่าจะมานั่งจมกับความทุกข์ ทำไมไม่เอาสติปัญญาที่มีไปช่วยคนอื่น นับจากนั้นออกไปให้กำลังใจกับผู้พิการในพื้นที่ เพราะเข้าใจว่าในช่วงแรกๆ ที่พิการ ไม่มีใครทำใจยอมรับได้เร็วนัก หากมีเพื่อนที่เคยประสบปัญหาเดียวกันไปช่วยพูดช่วยคุย ให้กำลังใจ จะช่วยได้มากขึ้น”
เมื่อมีผู้พิการรายใหม่ โดยเฉพาะที่เกิดจากอุบัติเหตุไม่ว่าจะในพื้นที่ อ.ยางตลาด หรือใกล้เคียง นายโยทัย จะออกไปให้กำลังใจผู้พิการรายใหม่ พร้อมกับทีมสหวิชาชีพของโรงพยาบาลยางตลาด ติดตามเยี่ยมให้กำลังใจถึงบ้าน หากผู้พิการคนใดพร้อมที่จะทำงานก็จะช่วยหาสถานที่ทำงานให้ พาไปสมัครงาน
การใช้ชีวิตบนรถเข็นทำให้นายโยทัย ซึ่งมีความรู้เชิงช่างได้ประดิษฐ์นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อแก้ปัญหาให้กับผู้พิการด้วยกัน เพราะเวลานั่งรถเข็นนานๆ จะเกิดแผลกดทับ จึงคิดทำ “หมอนมีรู” ซึ่งเป็นหมอนที่ทำจากผ้ามีรูตรงกลางคล้ายโดนัท เพื่อเอามาทำเป็นเบาะนั่งรถเข็น ทำให้นั่งสบายขึ้น และไม่มีแผลกดทับ เป็นนวัตกรรมง่ายๆ ที่ทำขึ้นจากความลำบากของตัวเอง
“หมอนมีรู” ถูกพิสูจน์ด้วยตัวเองว่าใช้ได้ดี นายโยทัย ก็ส่งผ่านนวัตกรรมนี้ไปยังผู้พิการที่ต้องนั่งรถเข็นเหมือนกัน ดังนั้นไม่ว่าจะไปที่ไหน จะเอาหมอนมีรู ประมาณ 20 อัน ไปแจกจ่ายให้กับผู้สนใจ เพื่อนำไปใช้กับผู้พิการโดยไม่มีหวง แถมสอนวิธีทำให้ด้วยหมอนมีรู นั้น ทำได้ง่ายๆ จากเศษผ้า ที่มาจากกลุ่มเย็บที่นอนในหมู่บ้าน เมื่อได้ผ้ามาแล้วบางครั้งช่างเย็บผ้าในหมู่บ้านมีเวลาก็จะเย็บหมอนให้ แต่หากช่างไม่ว่างจะลงมือทำเอง และยังได้ประดิษฐ์ตาข่ายรองเบาะนั่ง เพื่อชะลอการพังของรถเข็นอีกด้วย
นายโยทัย เป็นจิตอาสาให้กำลังใจเพื่อนผู้พิการ ช่วยฝึกอาชีพให้มีรายได้รายเลี้ยงตัวเองและดำรงอยู่ร่วมกับครอบครัว ปัจจุบันเขาไม่ได้ช่วยแค่ที่ตำบลหนองอิเฒ่า ได้ขยายออกไปถึงจังหวัดใกล้เคียง ด้วยความร่วมมือจากองค์การบริหารส่วนตำบลยางตลาด และโรงพยาบาลยางตลาดที่สนับสนุนการทำงานทุกอย่างเท่าที่จะช่วยได้