xs
xsm
sm
md
lg

กสร.ห่วงแรงงานซับคอนแทรคถูกเลิกจ้าง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
กสร. เผยสถานการณ์เลิกจ้างแรงงานยังปกติ แรงงานซับคอนแทรคน่าห่วง หวั่นถูกเลิกจ้างเพียบ หลังศาลแรงงานพิพากษาให้แรงงานในบริษัทแห่งหนึ่งได้รับค่าจ้าง - สวัสดิการเท่ากับลูกจ้างประจำ จับตาโรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ - อิเล็กทรอนิกส์ 100 แห่งในปริมณฑล - ภาคตะวันออก

นายสุวิทย์ สุมาลา รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงสถานการณ์แรงงานในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา ว่า ขณะนี้ปัญหาเลิกจ้างยังอยู่ภาวะปกติ เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจดีขึ้น หลังประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตทางการเมือง แต่ธุรกิจบางประเภท เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ยังลดวันทำงานและโอที เพื่อปรับตัวรับสถานการณ์เศรษฐกิจโลก และให้แข่งขันได้ในเวทีการค้านานาชาติ และเตรียมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)

ทั้งนี้ กลุ่มที่น่าเป็นห่วงคือแรงงานรับเหมาช่วง (ซับคอนแทรค) ซึ่งปัจจุบันคาดว่ามีแรงงานกลุ่มนี้ประมาณ 2 - 3 แสนคน ขณะนี้หลายสถานประกอบการได้ลดจำนวนแรงงานซับคอนแทรคลง เพื่อลดต้นทุนด้านแรงงาน เช่น โรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในจังหวัดสมุทรสาครเลิกจ้าง 800 คน โรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เลิกจ้าง 600 คน ซึ่งทั้งสองบริษัทได้จ่ายเงินชดเชยให้แก่แรงงานซับคอนแทรคตามกฎหมาย ทั้งนี้ สาเหตุส่วนหนึ่งเนื่องจากก่อนหน้านี้ศาลแรงงานได้มีคำพิพากษาตามมาตรา 11/1 ของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ให้แรงงานซับคอนแทรค ของบริษัทแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ได้รับค่าจ้างและสวัสดิการเช่นเดียวกับลูกจ้างประจำ ซึ่งเป็นคำพิพากษานี้มีผลเฉพาะแรงงานซับคอนแทรคกลุ่มดังกล่าวเท่านั้น

รองอธิบดี กสร. กล่าวอีกว่า ส่วนสถานการณ์ด้านแรงงานสัมพันธ์ในช่วงวันที่ 1 ต.ค. 2556 ถึงวันที่ 28 ก.ค. 2557 มีสถานการณ์ชุมนุมของผู้ใช้แรงงาน 78 ครั้ง ส่วนใหญ่เป็นการชุมนุมข้อเรียกร้องในเรื่องเงินโบนัส โดยเกิดขึ้นในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ 38 ครั้ง จ.ชลบุรี 14 ครั้ง และจังหวัดอื่นๆ ต่ำกว่า 5 ครั้ง เช่น จ.อ่างทอง ฉะเชิงเทรา ปทุมธานี ปราจีนบุรี และสระบุรี รวมทั้งมีสถานประกอบการที่แรงงานมีข้อเรียกร้อง 429 แห่ง ข้อพิพาทแรงงาน 107 แห่ง ข้อขัดแย้ง 157 แห่ง ผละงาน 6 แห่ง นัดหยุดงาน 2 แห่ง ปิดงาน 6 แห่ง และมีการจดทะเบียนข้อตกลงและสิทธิประโยชน์ 441 ฉบับ รวมเป็นเงินกว่า 3 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม กสร. ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปชี้แจง ทำความเข้าใจกับนายจ้างและลูกจ้าง ในสถานประกอบการต่างๆ รวมทั้งมีทีมเจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยไกล่เกลี่ยข้อพิพาทอย่างต่อเนื่อง

“สิ่งที่น่ากังวลคือช่วงปลายปี แรงงานจะยื่นข้อเรียกร้องเงินโบนัส ปรับขึ้นค่าจ้าง และสวัสดิการต่างๆ ซึ่งปีนี้อาจจะมีประเด็นเรื่องลูกจ้างซับคอนแทรคเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย จะทำให้ลูกจ้างประจำได้รับเงินโบนัส ปรับขึ้นค่าจ้างและสวัสดิการลดลงกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดข้อขัดแย้งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนยานยนต์ ในจังหวัดปริมณฑล และภาคตะวันออก เช่น สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ซึ่งใช้แรงงานซับคอนแทรคจำนวนมาก โดยมีสถานประกอบการที่ต้องเฝ้าระวังประมาณ 100 บริษัท กสร. จะจัดการประชุมทั้งในกรุงเทพฯและภาคตะวันออกแล้วเชิญนายจ้างและลูกจ้างมาชี้แจงทำความเข้าใจ รวมถึงให้ทั้งสองฝ่ายพูดคุยหาทางออกร่วมกันด้วยเหตุผลและใช้ความสุจริตใจ โดยเฉพาะกรณีแรงงานซับคอนแทรคในเดือนสิงหาคมนี้ นอกจากนี้ จะเชิญผู้นำแรงงานในภาคเอกชน และรัฐวิสาหกิจ มาหารือร่วมกันถึงปัญหาด้านแรงงาน และข้อเสนอต่างๆ ในเดือนสิงหาคมนี้เช่นกัน เพื่อเสนอต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)” นายสุวิทย์ กล่าว

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น