xs
xsm
sm
md
lg

สร้างสถานที่ทางวัฒนธรรม เลี่ยงรอยเลื่อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


5 พฤษภาคมที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว 6.3 ริกเตอร์ ได้สร้างความเสียหายให้กับชาวเชียงรายจำนวนมาก แล้วยังมีการสั่นไหวมาอย่างต่อเนื่องหรืออาฟเตอร์ช็อกกว่าพันครั้ง ส่งผลให้มีบ้านเรือนเสียหายร่วม 15,000 หลังคาเรือน โรงเรียน 123 แห่ง โบราณสถาน 17 แห่ง และวัดนับร้อยแห่ง ซึ่งรวมถึงวัดร่องขุ่นด้วย

แม้ว่าเหตุการณ์จะผ่านมาเกือบ 3 เดือนแล้ว ชาวเชียงรายยังหวาดผวา เพื่อเรียกขวัญกำลังใจกลับคืนมา เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ได้จัดงานสืบชะตาเมือง “เพื่อแผ่นดินเชียงรายอันเป็นที่รัก” ณ วัดร่องขุ่น จัดโดยจังหวัดเชียงรายร่วมกับทุกภาคส่วน ซึ่งมีขบวนแห่สะเปาคำไปยังบริเวณพระวิหารขาวของวัดร่องขุ่นและมีพิธีภายในศาลาธรรมโดยมีพิธีกรรมทางศาสนาเพื่อสืบชะตาและพระสงฆ์ 9 รูปเจริญพระพุทธมนต์ โดยมี ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ดารา นักแสดง ประชาชนจำนวนมากเข้าร่วมพิธีด้วย

ภายหลังเสร็จพิธีนายเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ และผู้ก่อสร้างสรรค์วัดร่องขุ่น ได้แจกภาพผลงานชื่อ “พระพุทธเจ้า” ปี 2557 ที่สร้างสรรค์ขึ้นเป็นที่ระลึกสืบชะตาเมืองเชียงราย (แผ่นดินไหว 5 พฤษภาคม 2557) พร้อมลายเซ็นต์ให้กับผู้เข้าร่วมพิธีสืบชะตาเมือง

นายเฉลิมชัย บอกว่า การจัดพิธีสืบชะตาเมือง พวกเราถือว่าเป็นการทำบุญใหญ่ รวมทั้งเป็นการความสุข เรียกขวัญกำลังใจให้แก่ชาวเชียงรายลุกขึ้นมาดำเนินชีวิตอย่างปกติสุข พร้อมปัดเป่าสิ่งไม่ดีออกไป ส่วนการบูรณะวัดร่องขุ่น จะทยอยซ่อมแซมบุรณะคาดว่าจะใช้เวลาในการบูรณะแล้วเสร็จกลับมาสวยงามดั่งเดิมภายใน 2 ปี

ศ.ดร.อภินันท์ กล่าวว่า ตนเข้าร่วมพิธีสืบชะตาเมือง จากนั้นได้ลงพื้นที่ตรวจสอบแหล่งโบราณสถาน 2 แห่งที่ได้รับความเสียจากแผ่นดินไหว ก็คือวัดพระธาตุจอมกิตติ ที่แผ่นจังโกบิดเบี้ยวเสียรูปทรง ยับย่น โครงสร้างได้รับกระทบกระเทือน และวัดเจดีย์หลวงที่แกนฉัตรคดงอ ขณะนี้ยังรอผ่านการพิจารณางบประมาณจากสำนักงบประมาณในการบูรณะทั้ง 2 แห่งประมาณ 3 ล้านบาท คาดว่า จะใช้เวลาในการบูรณะ 5 เดือน ตนได้กำชับให้สำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ เฝ้าระวังและตรวจสอบแหล่งโบราณสถานอย่างใกล้ชิดว่าส่งผลอะไรกับพื้นที่ทางกายภาพ ผู้คน และตัวโบราณสถาน

“เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ได้สร้างความเสียหายให้แก่โบราณสถานหลายแห่ง ตรงนี้ถือเป็นบทเรียน ที่จะต้องหาแนวทางป้องกัน เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย หรือเสียหายน้อยที่สุด สำหรับโบราณสถานที่มีอยู่แล้ว เราจะให้เจ้าหน้าที่กรมศิลป์หาแนวทางเสริมความมั่นคงแข็งแรง นอกจากนี้ขอความร่วมมือจากอาสาสมัครของกรมศิลป์ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น รวมถึงชาวบ้าน คอยเป็นหูเป็นตา ช่วยดูแล หากพบเห็นโบราณสถานที่ไหนชำรุดเสียหาย พายุพัด ถูกน้ำท่วม ให้รีบแจ้งกรมศิลป์โดยเร็วที่สุด”

ศ.ดร.อภินันท์ เล่าให้ฟังว่า นอกจากกำชับกรมศิลป์ให้เฝ้าระวังโบราณสถาน ด้วยการเพิ่มความแข็งแรง โดยเฉพาะโบราณสถานที่อยู่พื้นที่เสี่ยง พื้นที่รอยเลื่อน หากเกิดแผ่นดินไหวอาจได้รับความเสียหายได้

สำหรับระยะยาวจะมีนโยบายเรื่องการปลูกสร้างสถานที่ทางวัฒนธรรมจะต้องหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่อยู่ในแผนที่เสี่ยงภัยพิบัติแผ่นดินไหว เพราะปัจจุบันนี้มีรอยเลื่อนใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น กรมศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม จะต้องมีการศึกษาอย่างละเอียด โดยประสานกับกรมทรัพยากรธรณี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับพื้นที่รอยเลื่อน เพื่อไม่ไปปลูกสร้างบริเวณที่เป็นจุดเสี่ยง แล้วเลี่ยงไปสร้างบริเวณอื่นๆ แทน

....การหลีกเสี่ยงสิ่งปลูกสร้างสถานที่ทางวัฒนธรรม ไม่สร้างบนพื้นที่รอยเลื่อนนั้น ยังนำไปใช้ได้กับบ้านเรือนของประชาชน และอื่นๆ ทางที่ดีควรปักหมุดไว้

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น