“กรมศิลป์” เสนอเมืองเชียงใหม่เป็นมรดกโลกแห่งใหม่ ระบุคณะกรรมการแจง เข้าเกณฑ์ยูเนสโก 4 ข้อ พร้อมตั้งทีมงานจัดทำเอกสารเสนอบัญชีรายชื่อชั่วคราว ก่อนเสนอคณะกรรมการมรดกโลกพิจารณา
นายเอนก สีหามาตย์ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้ประชุมคณะกรรมการเตรียมการเพื่อนำเสนอแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมเข้าสู่บัญชีมรดกโลก ของกรมศิลปากร ซึ่งที่ประชุมมีมติให้เสนอมรดกโบราณสถานเมืองเชียงใหม่เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งใหม่ ตามที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) และชุมชนกลุ่มอนุรักษ์เมืองเชียงใหม่ เสนอ เนื่องจากคณะกรรมการเห็นว่า จากการรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณชนมีผลตอบรับเป็นอย่างดี ที่สำคัญเมืองเชียงใหม่ยังเข้าเกณฑ์คุณค่าที่โดดเด่นเป็นสากลที่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก กำหนดถึง 4 ข้อ
นายเอนก กล่าวว่า เกณฑ์ข้อแรก เป็นตัวแทนผลงานชิ้นเอกของอัจฉริยภาพของการสร้างสรรค์ของมนุษย์ โดยเมืองเชียงใหม่มีเรื่องราวภูมิปัญญาการสร้างเมืองเชียงใหม่ของพระยามังราย การสร้างเมืองมีคูน้ำ คันดินล้อมรอบ เพื่อใช้ประโยชน์จากสิ่งก่อสร้างระบบเมือง นอกจากนี้ ยังมีโบราณสถานในเมือง-นอกเมืองเชียงใหม่ สิ่งก่อสร้างร่วมสมัย ซึ่งทั้งหมดเป็นองค์ประกอบของเมืองที่สร้างขึ้นเพื่อตอบสนองการใช้งาน ที่แทรกไว้ด้วยภูมิปัญญาของบรรพชน 2. แสดงออกถึงการเปลี่ยนแปลงคุณค่าต่างๆของมนุษย์ในช่วงระยะเวลาหนึ่งภายในพื้นที่วัฒนธรรมหนึ่งของโลก ซึ่งสถาปัตยกรรมเมืองเชียงใหม่ เป็นตัวแทนการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมกับดินแดนโดยรอบ ทั้งในประเทศไทย พม่า ในช่วงเวลาที่ต่อเนื่องยาวนานจากอดีตมาถึงปัจจุบัน
3. เป็นประจักษ์พยานเพียงหนึ่งเดียว หรือมีลักษณะพิเศษของการสืบทอดวัฒนธรรม ได้มีการสืบทอดทางวัฒนธรรมล้านนาจนถึงปัจจุบันทั้งในแง่จารีต ประเพณี แบบแผนการดำรงชีพ เป็นต้น และ 4. มีความสัมพันธ์โดยตรงหรือรูปธรรมกับเหตุการณ์ หรือประเพณีที่คงอยู่ และวรรณกรรมที่โดดเด่นเป็นสากล
“เสนอเชียงใหม่เป็นมรดกโลก เรากำหนดพื้นที่ที่จะเสนอ แยกออกเป็นกลุ่มต่างๆ เป็นชุดแหล่งมรดกต่อเนื่อง 6 กลุ่ม ได้แก่ 1. ภูมิทัศน์วัฒนธรรมเมืองเก่าเชียงใหม่ มีส่วนอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ - ปุย เจ็ดริน แม่น้ำปิง แม่ข่า 2. กำแพงเมืองชั้นในของเมืองเชียงใหม่ 3. กำแพงเมืองด้านนอกของเมืองเชียงใหม่ 4. กลุ่มโบราณสถานภายในกำแพงเมือง 5. กลุ่มโบราณสถานภายนอกเมือง รวมถึงวัดสำคัญต่างอำเภอ เวียงกุมกาม ถนนจากเวียงกุมกามไปลำพูน และ 6. สิ่งก่อสร้างในยุคหลัง เช่น สะพานนวรัฐ กาดหลวง สถานีรถไฟ โรงพยาบาล ศาลเจ้าจีน วิหารศาสนาซิกข์ มัสยิด รวมทั้งอาคารในยุคโมเดิร์นของชาวตะวันตกมิชชันนารี ซึ่งเป็นตัวแทนของการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมในยุคนั้นที่ยังมีให้เห็นในปัจจุบัน” นายเอนก กล่าว
นายเอนก กล่าวว่า การเสนอเมืองเชียงใหม่ จะเสนอในรูปแบบเป็นกลุ่มโบราณสถาน จะไม่กระทบต่อวิถีชีวิต จุดไหนที่เป็นตัวเมืองใหม่ก็ยังคงดำเนินการพัฒนาได้ต่อเนื่อง ซึ่งลักษณะเด่นของเชียงใหม่นั้น เมืองเก่าอยู่ได้อย่างกลมกลืนกับเมืองใหม่ คล้ายกับเมืองเกียวโต ของญี่ปุ่น ในขณะนี้ได้เสนอให้อยู่ในบัญชีมรดกโลกแล้ว โดยที่เมืองนี้มีอาคารสมัยใหม่แทรกปะปนอยู่กับโบราณสถานเช่นเดียวกับเมืองเชียงใหม่ อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนจากนี้ไปได้มีการตั้งคณะทำงานวิชาการ โดยมี นางสาวิตรี สุวรรณสถิตย์ ที่ปรึกษากระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ทำหน้าที่จัดทำเอกสารนำเสนอเมืองเชียงใหม่ เข้าสู่บัญชีรายชื่อชั่วคราว เพื่อเสนอเป็นมรดกโลกตามขั้นตอนต่อไป
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่