xs
xsm
sm
md
lg

ถอน-ผ่าฟันคุด แต่ไม่เลิกบุหรี่เสี่ยงติดเชื้อเบ้ากระดูก แนะดูอาการเตือนมะเร็งช่องปาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คนสูบบุหรี่ฟันร่วงหมดปากมากกว่าคนไม่สูบ 2 เท่า เตือนเกิดคราบขาว แดง ขูดไม่ออกที่กระพุ้งแก้ม เหงือก ลิ้น แผลช่องปากไม่หายใน 2 สัปดาห์ เสี่ยงมะเร็งช่องปาก แนะพบทันตแพทย์หารอยโรค เผยถอนฟัน ผ่าฟันคุด แต่ไม่เลิกบุหรี่ทำแผลหายช้า ติดเชื้อง่าย เป็นโรคปริทันต์รกษาไม่หายขาด

นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ข้อมูลทางการแพทย์พบว่า ผู้ที่สูบบุหรี่ 5-14 มวนต่อวัน จะมีโอกาสสูญเสียฟันมากกว่าคนไม่เคยสูบ 2 เท่า และแม้จะเลิกสูบแล้วก็ต้องใช้เวลา 10-12 ปี ความเสี่ยงต่อการสูญเสียฟันจึงจะลดลงเท่าคนปกติ ทั้งนี้ ผลกระทบจากการสูบบุหรี่ คือ คราบสีดำหรือน้ำตาลติดแน่นบนตัวฟัน วัสดุอุดฟันเปลี่ยนสี ช่องปากสกปรก และมีกลิ่นปาก นอกจากนี้ ควันและความร้อนจะทำให้เนื้อเยื่ออ่อนในช่องปากระคายเคือง อักเสบ และหนาตัว ลิ้นเป็นฝ้าจนการรับรสด้อยลง สุดท้ายเสี่ยงต่อการเปลี่ยนเป็นเนื้อร้ายหรือมะเร็งช่องปาก สังเกตได้จากรอยแผ่นคราบสีขาวหรือสีแดง ขูดไม่ออก บริเวณกระพุ้งแก้ม เหงือก ลิ้น และแผลในช่องปากไม่หายเองใน 2 สัปดาห์ หากมีความผิดปกติเช่นนี้ต้องรีบพบทันตแพทย์ทันที โดยเฉพาะผู้สูบบุหรี่ทุกวันและมีอายุ 40 ปีขึ้นไป เพื่อหารอยโรคก่อนมะเร็งในช่องปากเป็นประจำ เพราะการรักษาตั้งแต่ระยะแรกจะช่วยชีวิตผู้ป่วยได้

การสูบบุหรี่ยังเป็นอุปสรรคต่อการรักษาทางทันตกรรม ซึ่งคราบบุหรี่ที่เหนียวเหมือนน้ำมันดินจะติดแน่นบนตัวฟัน การขัดออกต้องใช้เวลามาก ผู้สูบบุหรี่ที่เป็นโรคปริทันต์จะรักษาไม่หายขาด อีกทั้งโรคยังจะลุกลามมากขึ้นจนต้องสูญเสียฟันไป สำหรับผู้ที่ต้องถอนฟัน ผ่าฟันคุด หรือผ่าตัดในช่องปาก ถ้าไม่หยุดสูบบุหรี่จะทำให้แผลหายช้า และมีโอกาสติดเชื้อที่เบ้ากระดูกได้ง่าย การใส่รากฟันเทียมเป็นข้อห้ามในคนสูบบุหรี่ เนื่องจากโอกาสประสบความสำเร็จน้อยมาก ทำให้เสียค่าใช้จ่ายซึ่งสูงมากโดยเปล่าประโยชน์” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ด้าน ทพ.สุธา เจียรมณีโชติชัย รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ทันตแพทย์มีวิธีการ 4 ขั้นตอนช่วยให้เลิกบุหรี่ คือ 1. ซักถามประวัติการสูบบุหรี่ ระยะเวลาที่ใช้บุหรี่ เพื่อประเมินความยากง่ายในการเลิก 2. จูงใจให้เลิกสูบบุหรี่ตามความพร้อมของแต่ละบุคคล โดยให้ผู้ป่วยเห็นสภาพของช่องปากจากการสูบบุหรี่ 3. กำหนดวันเลิกบุหรี่ โดยให้คำแนะนำวิธีเลิก การบำบัดอาการที่เกิดขึ้น เช่น หงุดหงิด แก้โดยดื่มน้ำเย็นบ่อยๆ ครั้งละ 1-2 แก้ว ช่วยเลือดหมุนเวียนดีขึ้น นิโคตินถูกขับออกจากร่างกายอย่างรวดเร็ว หากรู้สึกปากว่างให้กินของขบเคี้ยวที่ไม่ทำให้ฟันผุ เช่น มะนาวชิ้นเล็กๆ ยาเม็ดสมุนไพร เป็นต้น หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด งดดื่มสุรา ชา กาแฟ นอกจากนี้ ช่วง 7 วันแรกควรออกกำลังเพื่อให้ร่างกายฟื้นตัวเร็วขึ้น โดยเฉพาะปอดจะทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และช่วยผ่อนคลายความเครียดจากความอยากสูบ

ทพ.สุธา กล่าวว่า และ 4. การติดตามผล แบ่งเป็นครั้งแรกภายใน 1-2 สัปดาห์ เพราะอาการอยากบุหรี่จะรุนแรงที่สุดในช่วง 3 วันแรก ผู้ใกล้ชิดควรให้กำลังใจ นัดครั้งที่ 2 ภายใน 1 เดือน เนื่องจากส่วนมากมักหวนกลับมาสูบใหม่ จึงต้องทำการติดตามผลอีกเมื่อครบ 3 และ 6 เดือน พร้อมนัดตรวจรักษาช่องปากต่อไปทุก 6 เดือน ทั้งนี้ ผู้ต้องการเลิกสูบต้องจำไว้เสมอว่าการขอสูบบุหรี่อีกครั้งเพียงมวนเดียวจะทำให้การเลิกบุหรี่ล้มเหลวทันที

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น