xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการชี้การผลิตครูทำได้หลายวิธี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์
นักวิชาการ แนะเอาอย่างแคนนาดา ผลิตครู 5 ปี แต่เปิดทางคนเรียนสาขาอื่นแต่ใจรักวิชาชีพครูมาเรียนในปี 3-5 จนจบแล้วได้ปริญญา 2 ใบ ชี้เป็นวิธีที่ยืดหยุ่นและเกิดนวัตกรรมใหม่ในการผลิตครู ซึ่งดีกว่าของไทยที่บังคับสถาบันผลิตครูหลักสูตร 5 ปีต้องทำเหมือนๆ กันเสนอนำร่องในมหา'ลัยที่มีความพร้อม

รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในฐานะประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยระบบการศึกษา เปิดเผยว่า จากการที่ตนได้เดินทางร่วมกับคุรุสภาเพื่อศึกษาดูงานการผลิตครูที่ประเทศแคนาดา และการดำเนินงานของสหภาพครูที่นครนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อเร็ว ๆ นี้ พบว่า แนวทางการผลิตครูของประเทศแคนาดา โดยเฉพาะการผลิตครูหลักสูตร 5 ปีมีความยืดหยุ่นมากกว่าโดยเปิดโอกาสให้ผู้เรียนสาขาวิชาอื่นๆ และมีความตั้งใจ สนใจอยากเป็นครูเข้ามาเรียนวิชาชีพครูได้ตั้งแต่ปี 3-5 โดยปี 5 จะเน้นเรื่องการฝึกสอนเมื่อจบการศึกษาแล้วจะได้ปริญญาตรี 2 ใบ ซึ่งแนวทางดังกล่าวเป็นแนวทางที่น่าสนใจ  เพราะการผลิตครูควรมีหลากหลาย ไม่ใช้บังคับว่าหลักสูตรผลิตครู 5 ปีทุกสถาบันการผลิตครูจะต้องทำเหมือนๆ กันหมดเช่นทุกวันนี้ ซึ่งส่วนตัวมองว่าหากนำแนวทางแบบประเทศแคนนาดามาปรับใช้กับประเทศไทย  จะทำให้เรามีรูปแบบหรือวิธีการผลิตครูที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ โดยเปิดทางให้คณะครุศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยที่มีความพร้อมสามารถผลิตครูในแนวทางใหม่ได้ อาทิ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ม.ศิลปากร ม.เกษตรศาสตร์ เป็นต้น ทั้งนี้ จะต้องได้รับการรับรองจากบอร์ดคุรุสภา  โดยรัฐให้การสนับสนุนการ ผลิต  เพราะถือว่าเป็นการนำร่องเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆให้กับวิชาชีพครู

“เรื่องของสหภาพครูนั้น จากการศึกษาดูงานเห็นได้ว่าแนวคิดของสหภาพครูของสหรัฐฯ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ของไทยมีแนวทางการดำเนินงานที่สอดคล้องกัน  แต่สหรัฐฯมีการดำเนินงานที่จริงจังกว่าไทย โดยจับมือร่วมกับผู้ปกครองที่จะเข้ามาตรวจสอบคุณภาพครูเพราะที่ผ่านมาคุณภาพการศึกษาของสหรัฐฯ ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมว่าตกต่ำและประชาชนสหรัฐก็ต้องการปฏิรูปการศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา ซึ่งเป็นปัญหาคุณภาพการศึกษาที่ไม่ต่างจากไทย แต่ของ สกสค. อาจเน้นไปเรื่องการเรียกร้องค่าตอบแทนและสวัสดิการครู  ดังนั้น หากมีการปรับแนวทางการประเมินคุณภาพครู ให้ผูกโยงกับเงินเดือนครูในอัตราที่เหมาะสม ทั้งผู้บริหารก็มีการติดตามตรวจสอบคุณภาพ พร้อมกับดึงผู้ปกครองมาร่วมประเมินก็จะสะท้อนความพึงพอใจของสังคมต่อคุณภาพครูได้ชัดเจนมากขึ้น” รศ.ดร.ประวิต กล่าวและว่า คาดว่าข้อสรุปจากการดูงานทั้ง 2 ประเทศ จะนำเข้าสู่การหารือในบอร์ดคุรุสภาต่อไป
 



กำลังโหลดความคิดเห็น