xs
xsm
sm
md
lg

อย่างไรเรียก! เลือดออกผิดปกติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ผศ.นพ.ชัยเจริญ ตันธเนศ
ภาควิชาพยาธิวิทยาคลินิก

หลายๆ ท่านคงเคยมีประสบการณ์ “เลือดออก” กันมาบ้างไม่มากก็น้อย
การเกิดเลือดออกที่เราเคยประสบมา อาจเป็นแบบเลือดออกชัดเจน ที่เห็นเลือดไหลเป็นหยดๆ หรือในบางครั้งเลือดอาจจะไม่ได้ออกมาให้เห็นภายนอก แต่จะเป็นลักษณะเลือดที่ออกใต้ชั้นเยื่อบุและผิวหนัง
ในทางการแพทย์ เราแบ่งภาวะเลือดออกเป็น 2 แบบใหญ่ๆ ได้แก่
1.ภาวะเลือดออกทางศัลยกรรม เป็นภาวะเลือดออกที่เกิดขึ้นอย่างสมเหตุสมผล เช่น ถูกมีด
บาดนิ้ว ก็จะมีเลือดออกที่แผลบริเวณนั้นอันเนื่องมาจากการฉีกขาดของเนื้อเยื่อ หากแผลใหญ่มาก มีเลือดออกมาก ก็มักต้องอาศัยการรักษาโดยวิธีทางศัลยกรรมเข้าช่วย เช่น การเย็บซ่อมแซมเนื้อเยื่อ
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
2.ภาวะเลือดออกผิดปกติ เป็นภาวะเลือดออกที่ดูไม่สมเหตุสมผล ภาวะนี้เกิดจากความผิด
ปกติของสมดุลระบบห้ามเลือดของร่างกาย ซึ่งโดยปกติแล้ว จะมีหน้าที่ในการป้องกันไม่ให้เกิดเลือดออกง่าย และช่วยห้ามเลือดเมื่อเกิดบาดแผล เมื่อระบบนี้เสียหน้าที่ไป ก็จะเกิดภาวะเลือดออกผิดปกติขึ้นได้
ความรุนแรงของภาวะนี้ มีตั้งแต่ไม่มีอาการใดๆ หรือในบางคนอาจจะรุนแรงมาก ผู้ป่วยส่วนหนึ่งจะมีความเสี่ยง เช่น ใช้ยากันเลือดแข็งตัวหรือแอสไพรินอยู่ หรือบางรายไม่ทราบมาก่อนว่า ตนมีปัญหาเลือดออกผิดปกติอยู่แล้วและไปทำหัตถการ เช่น ทำฟัน ก็อาจจะมีเลือดออกได้มากกว่าปกติ
เพื่อไม่ให้เกิดความตื่นตระหนก เราจึงควรทราบว่า ลักษณะอย่างไรที่ถือว่าเป็นภาวะเลือดออกผิดปกติ และควรต้องมาพบแพทย์ เพื่อหาสาเหตุและทำการรักษา
ลักษณะเลือดออกผิดปกติที่สำคัญ ได้แก่
เลือดออกเองโดยไม่มีสาเหตุใดๆ นำมาก่อน มักพบในลักษณะเลือดออกใต้ชั้นเยื่อบุและ
ผิวหนัง เช่น เลือดออกในเยื่อบุตาขาว จุดเลือดออก หรือพรายย้ำ จ้ำเลือดที่ผิวหนัง
เลือดออกหลายตำแหน่งพร้อมๆ กัน โดยไม่ได้เกิดจากอุบัติเหตุ เช่น มีเลือดกำเดาพร้อมกับเลือดออกตามไรฟัน หรือเลือดออกตามผิวหนัง
เลือดออกปริมาณมาก ไม่สมเหตุสมผลกับสาเหตุ เช่น เดินไปชนขอบโต๊ะไม่แรง แต่กลับมี
รอยช้ำขนาดใหญ่ ถูกมีดบาดเป็นแผลเล็กๆ แต่กลับมีเลือดออกมากและนาน หรือไปขูดหินปูน ปรากฏว่าเลือดออกมาก กลับมาบ้านแล้ว เลือดก็ยังไหลไม่หยุด
เลือดออกในตำแหน่งที่พบไม่บ่อย เช่น เลือดออกในข้อต่อต่างๆ เลือดออกในอวัยวะภายใน
หากสังเกตตนเองแล้วพบว่ามีลักษณะข้างต้น ก็อย่าเพิ่งตื่นตระหนก เพราะเลือดออกที่ท่านสังเกตพบ อาจจะไม่ใช่เลือดออกผิดปกติก็ได้ อย่างไรก็ตาม ควรหาเวลามาพบแพทย์ เพื่อค้นหาสาเหตุว่า เป็นเลือดออกผิดปกติจริงหรือไม่ และมีสาเหตุจากอะไร โดยซักถามประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียด หากมีลักษณะที่สงสัยจริงๆ แพทย์จะให้ผู้ป่วยตรวจเพิ่มทางห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจเลือด เพื่อที่จะได้รักษาและป้องกันปัญหาแต่เนิ่นๆ
-------------------
พบกิจกรรมดีๆ ที่ศิริราช
รับรู้เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ
ฝ่ายการพยาบาล รพ.ศิริราช ขอเชิญประชาชนผู้สนใจเข้าอบรมเรื่อง “การเตรียมตัวอยู่อย่างโดดเดี่ยว แต่มีความสุข” และ “ความต้องการครั้งสุดท้ายของชีวิต” เวลา 13.30-15.30 น. ณ ห้อง 7009 ตึกสยามินทร์ ชั้น 7 พิเศษ บริการตรวจวัดความดันฟรี (ไม่เสียค่าใช้จ่าย) สอบถาม โทร. 0 2419 7805, 0 2419 7700


กำลังโหลดความคิดเห็น