xs
xsm
sm
md
lg

ดันงานวิจัยเทคโนโลยี สวทช.ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช.
สปสช. ตั้งคณะทำงานร่วม สวทช. ผลักดันงานวิจัย นวัตกรรม และเทคโนโลยี ใช้งานทางการแพทย์ หวังช่วยรักษาผู้ป่วย สร้างศักยภาพการสู้ต่างชาติ

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สปสช. ได้ร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในการนำผลงานวิจัยของ สวทช. ไปให้บริการทางการแพทย์ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนผลงานของนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ไทยที่นำไปสู่การพัฒนาประเทศในอนาคตที่ผ่านมา สปสช. และ สวทช. ได้มีความร่วมมือกันหลายโครงการ เช่น โครงการจัดทำมาตรฐานข้อมูลสุขภาพและการแพทย์ของประเทศ โครงการนำร่องระบบการเชื่อมโยงสุขภาพของผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในของ สปสช. ซึ่งผลงานทั้ง 2 ชิ้นนี้ นับว่ามีประโยชน์อย่างมากในการประมวลผลซึ่งมีข้อมูลเป็นจำนวนมาก รวมทั้งยังเป็นการลดภาระงานให้กับหน่วยบริการในการจัดส่งข้อมูล

นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือด้านนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วย คือ “โครงการนำร่องบริการเครื่องช่วยฟังไทยภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ที่ทางศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (ศอ.พว.) ได้ทำการวิจัยพัฒนา ซึ่งได้มีการนำร่องจำนวน 1,000 เครื่อง ร่วมกับโรงพยาบาล 13 แห่งในขณะนี้ ไม่เพียงแต่มีประสิทธิภาพเทียบเท่าเครื่องนำเข้าจากต่างประเทศ แต่ยังมีราคาถูกกว่าที่ช่วยประหยัดงบประมาณจัดซื้อลงได้

จากผลงานความร่วมมือที่ปรากฏนี้ จึงควรเดินหน้าความร่วมมือเพื่อต่อยอดผลงานวิจัย นวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการแพทย์ ภายใต้บทบาทภารกิจ สปสช. ในฐานะผู้จัดบริการที่สามารถสนับสนุนได้ ซึ่งนอกจากเป็นการสนับสนุนงานของ สปสช. แล้ว ยังเป็นการสนับสนุนนักวิจัยไทยในการคิดค้นผลงาน รวมทั้งยังเป็นการสร้างความเข้มแข็งในการแข่งขันและพัฒนาประเทศอย่างยั่นยืน ในขณะเดียวกัน สปสช. เป็นหน่วยงานที่มีข้อมูลการรักษาพยาบาลของคนในประเทศ จึงมีข้อมูลความต้องการบริการทางการแพทย์ที่ทางนักวิจัยจะสามารถนำไปคิดค้นพัฒนาเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อให้ตรงกับความต้องการของผู้ป่วยและหน่วยบริการในประเทศได้” เลขาธิการ สปสช. กล่าว และว่า ทั้งนี้ในการหารือร่วมกันครั้งนี้ ทาง สปสช. และ สวทช. จึงได้จัดตั้งคณะทำงานร่วมกัน โดยมี นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี ประธานกลุ่มภารกิจที่ 1 สปสช. และ ศ.ดร.นพ.ประเสริฐ เอื้อวรากุล เป็นหัวหน้าคณะทำงานเพื่อประสานงานร่วมกัน
ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสวทช.
ด้าน ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สวทช. หนึ่งในการวิจัยเหล่านี้ “กลุ่มงานด้านสุขภาพและการแพทย์” นับเป็นเป้าหมายที่ทาง สวทช. ให้ความสำคัญ และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง นอกจากผลงานความร่วมมือระหว่าง สปสช. และ สวทช. ข้างต้นแล้ว ขณะนี้ทาง สวทช. ยังมีผลงานวิจัยที่พร้อมออกสู่ระบบบริการ หากได้รับการสนับสนุนและผลักดัน ได้แก่ 1. เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบเคลื่อนย้ายได้ 2. เครื่องถ่ายภาพรังสีดิจิตอลแบบสองมิติ 3. เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สำหรับงานทันตกรรม 4. กระดูกเทียม แคลเซียมไฮดรอกซี เอพาไซด์ 5. วัสดุฝังในเฉพาะบุคคลด้วยเทคโนโลยีต้นแบบรวดเร็วทางการแพทย์ 6. หน้ากากอนามัยฆ่าเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย 7. วัสดุห้ามเลือดสำหรับใช้ภายนอกร่างกาย 8. ข้อเข่าขาเทียมแบบสี่จุดหมุนและส่วนประกอบแกนใน และ 9. ระบบตรวจสุขภาพอัตโนมัติ จึงจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อผลักดัน และ สปสช. เป็นหน่วยงานหนึ่งที่จะประสานความร่วมมือนี้

“ในการผลักดันงานวิจัยเพื่อให้เกิดประโยชน์และใช้อย่างแพร่หลาย ทั้งยังเป็นการเผยแพร่ผลงานวิจัยของคนไทย จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือกับภาคเอกชน ซึ่งขณะนี้ต่างยินดีที่จะสนับสนุน เพียงแต่ทางภาครัฐต้องสร้างความมั่นใจในช่วงเริ่มต้นว่าจะมีตลาดรองรับ ทำให้ภาคเอกชนกล้าที่จะลงทุนตรงนี้ ด้วยเหตุนี้ทาง สวทช.จึงได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ รวมถึง สปสช. เพื่อหารือแนวทางการผลักดันในทิศทางที่เป็นไปได้” ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าว
 



กำลังโหลดความคิดเห็น