xs
xsm
sm
md
lg

ระวังหมอปลอมเกลื่อนเน็ต โพสต์ข้อมูลผิดๆ แนะตรวจสอบก่อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ระวัง! หมอปลอมแฝงเกลื่อนเน็ต โชว์พาวโพสต์ข้อมูลให้คำแนะนำ แพทยสภาเตือนอาจเข้าใจผิด ยิ่งปฏิบัติตามอาจเกิดอันตราย แนะหากระบุชื่อนามสกุลให้ตรวจสอบก่อนเป็นแพทย์จริงหรือไม่ เผยหากเป็นแพทย์ปลอมไม่สามารถร้องเรียนจากใครได้ เล็งหารือไอซีทีเอาผิดคนแชร์ข้อมูลการแพทย์ไม่ถูกต้อง

พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ รองเลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า ปัจจุบันมีการระบุตัวตนว่าเป็นแพทย์จำนวนมากผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ เช่น เฟซบุ๊ก ไลน์ หรือทวิตเตอร์ เป็นต้น ซึ่งบางคนระบุชื่อ นามสกุลจริง ทำให้ประชาชนสามารถตรวจสอบรายชื่อจากเว็บไซต์แพทยสภาได้ว่าเป็นแพทย์จริงหรือไม่ แต่บางคนใช้ชื่อแฝงและไม่ระบุตัวตนที่แท้จริง จึงไม่สามารถตรวจสอบได้ ซึ่งอาจจะเป็นหมอปลอม นับเป็นเรื่องน่าห่วง เพราะบุคคลที่ระบุว่าเป็นแพทย์และมีพฤติกรรมคล้ายแพทย์บนสังคมออนไลน์ ได้ทำการโพสต์ข้อมูลทางวิชาการหรือคำแนะนำทางการแพทย์ให้สาธารณชนรับรู้และบางครั้งมีการส่งต่อข้อความเหล่านั้นต่อกันไปเป็นวงกว้าง

“หากเป็นแพทย์จริงแล้วโพสต์ข้อมูลทางการแพทย์หรือคำแนะนำตามหลักวิชาการก็จะไม่เป็นปัญหา แต่หากไม่ใช่แพทย์  การโพสต์ข้อมูลทางการแพทย์ อาจจะไม่ใช่ข้อมูลที่ถูกต้องหรือให้คำแนะนำผิดๆ ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดและปฏิบัติตามคำแนะนำเหล่านั้น จนอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อตัวเองได้ จึงอยากฝากให้ประชาชนที่ติดตามบุคคลที่ระบุว่าเป็นแพทย์ในสื่อประเภทต่างๆ ตรวจสอบสถานภาพความเป็นแพทย์ของบุคคลนั้นก่อนว่าเป็นแพทย์จริงหรือไม่แล้วค่อยเชื่อข้อมูลเหล่านั้น” รองเลขาธิการแพทยสภา กล่าว

พล.อ.ต.นพ.อิทธพร กล่าวอีกว่า สำหรับกรณีที่มีการอ้างถึงบทความ หรือข้อเขียนของแพทย์เพื่อใช้อ้างอิงในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ประชาชนควรมีการตรวจสอบเช่นกันว่าแพทย์ดังกล่าวเป็นผู้เขียนข้อความนั้นจริงหรือไม่ เพื่อที่หากเกิดความเสียหายขึ้นจะได้สามารถร้องเรียนได้ หากเป็นข้อความที่ไม่รู้ที่มาที่ไปเมื่อเกิดความเสียหายจะไม่สามารถเรียกร้องจากใครได้
 
พล.อ.ต.นพ.อิทธพร กล่าวด้วยว่า ส่วนกรณีที่มีการให้ข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ แล้วทำให้เกิดความเสียหายกับผู้ที่ปฏิบัติตาม หรือมีพฤติกรรมคล้ายแพทย์ในโซเชียลมีเดียนั้น แพทยสภากำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะสามารถดำเนินการอย่างไรได้บ้าง เนื่องจากบุคคลที่มีพฤติกรรมดังกล่าว ไม่ได้มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม แพทยสภาจึงไม่สามารถลงโทษด้วยการยึดใบอนุญาตดังกล่าวได้ ทั้งนี้ แพทยสภาจะหารือกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ด้วยว่าบุคคลที่มีการส่งต่อข้อความทางการแพทย์ที่ไม่ถูกต้องจะต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วยหรือไม่

อนึ่ง ตามมาตรา 28 พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 กำหนดว่า ห้ามมิให้ผู้ใดใช้คำหรือข้อความที่แสดงให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้มีความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมสาขาต่างๆ ทั้งนี้ รวมถึงการใช้ จ้าง วาน หรือยินยอมให้ผู้อื่นกระทำดังกล่าวให้แก่ตนเว้นแต่ผู้ได้รับวุฒิบัตรหรือหนังสืออนุมัติเป็นผู้มีความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมสาขานั้นๆ จากแพทยสภาหรือที่แพทยสภารับรองหรือผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมผู้มีคุณสมบัติตามที่กำหนดในข้อบังคับแพทยสภา โดยผู้ที่ฝ่าฝืนต้องระวางโทษต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ




กำลังโหลดความคิดเห็น