คาดช่วง 4 ปี ขาดแคลนแรงงานเกือบ 5 แสนคน ต้องการกลุ่มอาชีวะสูงถึง 3 เท่า จำนวน 370,302 คน ช่างกล ต้องการอันดับ 1 ถึงร้อยละ 50
นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) เปิดเผยว่า เดือนมีนาคมที่ผ่านมา นายจ้างแจ้งความต้องการจ้างงานจำนวน 40,067 คน เป็นชาย 5,094 หญิง 11,980 และไม่ระบุเพศ จำนวน 22,993 คน ส่วนใหญ่เป็นตำแหน่งเสมียน งานพื้นฐาน พนักงานบริการ และพนักงานขาย
ขณะที่มีลูกจ้างลาออกจำนวน 42,460 คน ถูกเลิกจ้างจำนวน 5,811 คน สาเหตุจากการปิดกิจการ 2,291 คน นายจ้างลดพนักงาน 2,048 คน ไม่ผ่านทดลองงานจำนวน 182 คน มีความผิดจำนวน 73 คน และต้องการเปลี่ยนงานใหม่ 36,927คน จากจำนวนผู้ประกันตนที่มาขึ้นทะเบียนในเดือนมีนาคม กกจ. สามารถบรรจุงานได้จำนวน 24,736 คน ส่วนปัญหาการขาดแคลนแรงงานคาดว่าในช่วงระยะเวลา 3 ปี คือตั้งแต่ปี 2557-2560 จะมีการขาดแคลนแรงงานไม่น้อยกว่าปีละ 165,000 คน ขณะที่มีนักศึกษาเข้าสู่ตลาดงานในแต่ละปี 547,853 คน แบ่งเป็นปริญญาตรี 336,879 คน คิดเป็นร้อยละ 61.49 ระดับ ปวช. จำนวน 48,884 คน คิดเป็นร้อยละ 8.92 ระดับ ปวส. จำนวน 74,550 คน คิดเป็นร้อยละ 13.61
อธิบดี กกจ. กล่าวอีกว่า ในช่วง 4 ปีนี้ความต้องการแรงงานกลุ่มอาชีวศึกษา หรือ สายอาชีพ สูงถึง 3 เท่า หรือ 370,302 คน หากแบ่งเป็นระดับการศึกษานายจ้างจะต้องการแรงงานสายอาชีพ ส่วนใหญ่เป็นช่างกลโรงงาน ร้อยละ 50 ช่างเชื่อม ร้อยละ 20 ช่างไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ร้อยละ 10 และ แมคคาทรอนิกส์ ร้อยละ 10 และช่างแม่พิมพ์ อีกร้อยละ 10 ส่วนระดับอุดมศึกษา ต้องการช่างวิศวกรรมหรือสายการผลิต กว่าร้อยละ 70 งานการตลาด งานบุคคล และคอมพิวเตอร์ ร้อยละ 20 ส่วนการเงิน ธุรการ ประชาสัมพันธ์ มีเพียงร้อยละ 10