รพ.ยศเสแนะดื่มเครื่องดื่มสมุนไพร “3 ตรี” กินต่างกัน 3 ฤดูปรับสมดุลร่างกาย ระบุหน้าร้อนต้องกินสูตร “ตรีผลา” อาศัยรสขม เย็น จืด หน้าฝนกิน “ตรีกฏุก” อาศัยรสเผ็ดร้อน และหน้าหนาวกิน “ตรีสาร” ใช้รสร้อน
นพ.วัฒนะ พันธุ์ม่วง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน (ยศเส) กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า การกินอาหาร หรือดื่มเครื่องดื่มที่เหมาะสมกับสภาพอากาศ มีส่วนสำคัญในการปรับสมดุลร่างกายได้ ซึ่งภูมิปัญญาไทยมีการจัดตำรับยาแผนไทยที่เหมาะกับแต่ละสภาพภูมิอากาศ เรียกว่า “เครื่องดื่ม 3 ตรี” ประกอบด้วย 1. ตรีผลา เหมาะสำหรับอากาศร้อน ได้แก่ ลูกสมอไทย ลูกสมอพิเภก และมะขามป้อม เพื่อล้างพิษออกจากระบบต่างๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะระบบทางเดินอาหาร ระบบเลือด และระบบน้ำเหลือง และเป็นยาที่ปลอดภัยไร้ผลข้างเคียงใดๆ
นพ.วัฒนะ กล่าวอีกว่า 2. ตรีกฏุก เป็นตำรับยาในคัมภีร์แพทยศาสตร์สงเคราะห์ เหมาะสำหรับฤดูฝน เพราะมีสรรพคุณ แก้ไข้หวัด แก้ไอ บรรเทาอาการหนาวเย็น แก้ปวดท้อง ท้องอืด เป็นยาระบาย มีส่วนประกอบของสมุนไพรที่มีรสเผ็ดร้อน 3 อย่าง คือ ขิง พริกไทย ดีปลี และ 3. ตรีสาร เหมาะสำหรับหน้าหนาว ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย ประกอบด้วย รากเจตมูลเพลิง เถาสะค้าน รากช้าพลู ในคัมภีร์ได้บันทึกไว้ว่า รากเจตมูลเพลิง รสร้อน กระจายเลือดลม ฆ่าพยาธิ แก้คุดทะราด แก้ริดสีดวง บำรุงธาตุ เถาสะค้าน รสร้อน แก้ลมอันเกิดแก่กองธาตุพิการ รากช้าพลู รสร้อน แก้ลม เป็นต้น
“ขณะนี้ประเทศไทยกำลังประสบสภาพอากาศร้อนเช่นนี้ จึงต้องดูแลสุขภาพโดยอาศัยรสอาหารจำพวก ขม เย็น จืด เพื่อปรับสมดุลร่างกาย โดยตรีผลา ซึ่งตรีผลาเป็นตำรับยาตามแพทย์แผนไทย ตรี แปลว่า สาม ผลา (ผล) คือ ผลไม้ จึงหมายถึงผลไม้ 3 อย่างที่มาประกอบกันเข้าเป็นตำรับเดียว” นพ.วัฒนะ กล่าว