xs
xsm
sm
md
lg

ลดความเสี่ยงโรคเบาหวานด้วยโยเกิร์ตรสธรรมชาติ / ดร.ฉัตรภา หัตถโกศล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โรคเบาหวานเป็นหนึ่งในโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศไทยในปัจจุบัน เมื่อเกิดโรคเบาหวานขึ้นแล้วหากไม่ควบคุมหรือดูแลตัวเองให้ดีก็จะทำให้เกิดโรคเรื้อรังที่ตามมาทั้งโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไต และโรคระบบประสาท ซึ่งก่อให้เกิดการสูญเสียทั้งคุณภาพชีวิตและค่าใช้จ่ายที่สูง

ดังนั้น หากสามารถป้องกันโรคเบาหวานได้ก็จะช่วยให้ลดการเกิดโรคเรื้อรังและเป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตได้ด้วย

อาหารเป็นปัจจัยหนึ่งที่สามารถเป็นทั้งตัวเร่งและตัวชะลอการเกิดโรคเบาหวาน โดยปกติแล้วอาหารที่มีน้ำตาลสูงจะเป็นตัวเร่งให้ตับอ่อนทำงานหนักนานวันเข้าการทำงานของตับอ่อนก็จะลดลงจนอาจทำให้เกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้

ส่วนอาหารที่ช่วยชะลอการเกิดโรคเบาหวานจะเป็นอาหารในกลุ่มที่ให้สารต้านอนุมูลอิสระ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาผลของการรับประทานโยเกิร์ตรสธรรมชาติกับการลดความเสี่ยงของโรคเบาหวาน

โยเกิร์ตเป็นผลิตภัณฑ์จากนมที่ทำจาก นม นมพร่องมันเนย หรือนมขาดมันเนยอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน โดยผ่านกระบวนการหมักด้วยแบคทีเรียหลัก 2 ชนิด คือ Lactobacillus bulgaricus และ Streptococcus thermophilus แบคทีเรียจะย่อยน้ำตาลแลคโตสในนมให้เป็นกรดแลคติก ทำให้มีรสเปรี้ยวและมีลักษณะกึ่งแข็งกึ่งเหลว โยเกิร์ตให้คุณค่าทางอาหารสูง มีโปรตีนที่มีกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกาย เป็นแหล่งของวิตามินที่ละลายในน้ำ (วิตามินบี 12 และไรโบฟลาวิน) และวิตามินที่ละลายในไขมัน (วิตามินเอ ดี และเค) มีแร่ธาตุหลายชนิด ได้แก่ แคลเซียม แมกนีเซียม และโพแทสเซียม

ในปี 2011 Tong X พบความสัมพันธ์ของการรับประทานโยเกิร์ตกับการลดความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานชนิดที่ 2 โดยพบว่าผู้ที่รับประทานโยเกิร์ตที่มีไขมันต่ำจะช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานได้ถึงร้อยละ 10 การศึกษาในปี 2013 ของ Gao D ที่รวบรวมข้อมูลการศึกษาการรับประทานโยเกิร์ต (50 กรัม) เป็นประจำมีความสัมพันธ์กับการลดความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มีการศึกษาในกลุ่มหญิงวัยหมดประจำเดือนของ Margolis KL เป็นเวลา 3 ปี พบว่ากลุ่มรับประทานโยเกิร์ต ลดความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เช่นกัน ในปี 2012 Sluijs I ศึกษาในกลุ่มชาวยุโรป 340,000 คน เพื่อหาความสัมพันธ์ของการรับประทานผลิตภัณฑ์จากนมกับความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งพบว่าผลิตภัณฑ์จากนมไม่ได้ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน

นอกจากนี้ ยังพบว่ากลุ่มคนที่รับประทานชีสและโยเกิร์ตยังมีส่วนช่วยลดการเกิดโรคเบาหวาน อีกหนึ่งการศึกษาที่น่าสนใจของ Ejtahed HS ศึกษาเปรียบเทียบระหว่างการรับประทานโยเกิร์ตที่มีโพรไบโอติก (Lactobacillus acidophilus La5 และ Bifidobacterium lactis Bb12) กับโยเกิร์ตธรรมดา 300 กรัมต่อวัน 6 สัปดาห์ ผลการศึกษาพบว่าการรับประทานโยเกิร์ตที่มีโพรไบโอติก ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร และระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสม อีกทั้งช่วยเพิ่มความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระในเลือด และเพิ่มเอนไซม์ที่ทำหน้าที่ในการต้านอนุมูลอิสระอีกด้วย (Superoxide dismutase และ glutathione peroxidase)

สารสำคัญที่มีอยู่ในโยเกิร์ตคือโพรไบโอติก (Probiotics) เป็นจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ จากการศึกษาพบว่าโพรไบโอติดจะช่วยสารอนุมูลอิสระในร่างกาย และช่วยต้านการอักเสบ ซึ่งเป็นการลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และช่วยเพิ่มความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระ นอกจากนี้อาจจะมีผลช่วยในการปรับระดับไขมันในเลือด ลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจได้อีกด้วย

ดังนั้น การรับประทานโยเกิร์ตธรรมชาติที่ จากการศึกษาทั้งทางระบาดวิทยาและการศึกษาทางคลินิกส่วนใหญ่พบความสัมพันธ์ของการรับประทานโยเกิร์ตกับการลดความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน โยเกิร์ตที่ดีต่อสุขภาพคือโยเกิร์ตที่มีไขมันต่ำ มีเชื้อจุลินทรีย์หรือโพรไบโอติกในโยเกิร์ต และสิ่งที่สำคัญคือต้องเป็นโยเกิร์ตรสธรรมชาติที่ไม่มีการปรุงแต่งรสชาติ เนื่องจากโยเกิร์ตรสอื่นอาจจะมีการเพิ่มน้ำตาลให้หวานมากขึ้นทำให้ร่างกายได้รับน้ำตาลและประโยชน์จากโยเกิร์ตจะเปลี่ยนไป เราสามารถเพิ่มรสชาติของโยเกิร์ตให้อร่อยมากยิ่งขึ้นได้ด้วยการเติมผลไม้สดชนิดต่างๆ หรือถั่วเปลือกแข็งร่วมกับการรับประทานโยเกิร์ต

เอกสารอ้างอิง
1. http://www.accessdata.fda.gov/scripts/cdrh/cfdocs/cfcfr/CFRSearch.cfm?fr=131.200
2. Tong X, Dong J-Y, Wu Z-W, Li W, Qin L-Q. Dairy consumption and risk of type 2 diabetes mellitus: a meta-analysis of cohort studies. European Journal of Clinical Nutrition 2011;65:1027-31.
3. Gao D, Ning N, Wang C, Wang Y, Li Q, Meng Z, et al. Dairy Products Consumption and Risk of Type 2 Diabetes: Systematic Review and Dose-Response Meta-Analysis. PLoS ONE 2013;8:e73965.
4. Margolis KL, Wei F, de Boer IH, Howard BV, Liu S, Manson JE, et al. A Diet High in Low-Fat Dairy Products Lowers Diabetes Risk in Postmenopausal Women. J Nutr 2011;141:1969-74.
5. Sluijs I, Forouhi NG, Beulens JW, van der Schouw YT, Agnoli C, Arriola L, et al. The amount and type of dairy product intake and incident type 2 diabetes: results from the EPIC-InterAct Study. Am J Clin Nutr 2012;96:382-90.
6. Ejtahed HS, Mohtadi-Nia J, Homayouni-Rad A, Niafar M, Asghari-Jafarabadi M, Mofid V. Probiotic yogurt improves antioxidant status in type 2 diabetic patients. Nutrition 2012;28:539-43..


กำลังโหลดความคิดเห็น