xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายงดเหล้าจี้ ตร.จับจริงขายเหล้าริมทางช่วงสงกรานต์ ชี้ 90% ดื่มก่อนเกิดเหตุ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“เครือข่ายงดเหล้า” จี้ตำรวจทางหลวงจับจริงขายเหล้าริมทาง-ดื่มบนรถ รับมืออุบัติเหตุสงกรานต์ ชี้ 90% ดื่มก่อนเกิดเหตุ เด็กวัย 16 ดื่มสูงกว่าช่วงปกติ 7.6 เท่า พบเบียร์ติดอันดับขายดีสงกรานต์

วันนี้ (27 มี.ค.) ที่กองบังคับการตำรวจทางหลวง เมื่อเวลา 10.00 น. ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) พร้อมด้วย เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครือข่ายเฝ้าระวังแอลกอฮอล์กรุงเทพฯ เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่กว่า 30 คน เข้ายื่นหนังสือต่อ พล.ต.ต.พงษ์สิทธิ์ แสงเพชร ผู้บังคับการตำรวจทางหลวง (ผบก.ทล.) เพื่อเรียกร้องให้บังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535 และ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ริมทางถนน ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนรถ เพื่อควบคุมอุบัติเหตุช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยมี พ.ต.อ.อรรถวุฒิ อ่อนทรัพย์ รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล เป็นผู้รับเรื่องแทน

ภก.สงกรานต์ กล่าวว่า เทศกาลสงกรานต์ที่มีวันหยุดยาวตั้งแต่ 12-16 เม.ย.ควรมีการเตรียมป้องกันและรับมืออุบัติเหตุที่มีปัจจัยหลักมาจากการดื่มสุรา ทั้งนี้ข้อมูลช่วง 7 วันอันตรายปี 2556 จากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) พบว่า มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น 2,828 ครั้ง เสียชีวิต 321 ราย บาดเจ็บ 3,040 ราย สาเหตุสำคัญคือเมาสุรา 39.11% ขณะเดียวกัน ข้อมูลศูนย์วิจัยปัญหาสุรา ยังพบว่า เบียร์เป็นเครื่องดื่มที่บริโภคสูงสุดในช่วงสงกรานต์ รองลงมาคือสุราขาว และกว่า 90% ของผู้บาดเจ็บที่ดื่มก่อนเกิดเหตุมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดมากกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือเด็กอายุเพียง 16 ปี ดื่มก่อนเกิดอุบัติเหตุในช่วงสงกรานต์สูงกว่าช่วงปกติถึง 7.6 เท่า และ 82% ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาดื่มได้ด้วยตนเอง แม้มีกฎหมายห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปั๊มน้ำมัน แต่ริมทางหลวงกลับปล่อยให้มีการวางขายได้ ซึ่งทำให้ไม่ลดปัญหาจากการดื่มแล้วขับ

ขอบคุณที่กรมทางหลวง เคยให้ความร่วมมืออย่างดีในปีก่อนๆ และขอให้ทำต่อเนื่อง ทั้งนี้มาตรการที่สามารถทำได้ คือ 1.บังคับใช้กฎหมาย เพิ่มความเข้มข้นตรวจตราการจำหน่ายสุราริมทาง การดื่มสุราบนรถ และตรวจวัดแอลกอฮอล์ผู้ขับขี่รถยนต์ และรถจักรยานยนต์ ซึ่งมีทั้ง พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535 และ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 มาตรา 4 และ 31(7) 2.เร่งประชาสัมพันธ์กฎหมาย พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ให้กว้างขวาง และ 3.นำกฎหมาย พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535 มาบังคับใช้กับผู้ที่ฉวยโอกาสขายสุราริมทางโดยเด็ดขาด เพื่อจำกัดการเข้าถึงสุรา ลดปัญหาจากอุบัติเหตุจราจรทางบก” ภก.สงกรานต์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น