xs
xsm
sm
md
lg

เฝ้าระวังสารพิษ 4 ตัว เหตุไฟไหม้บ่อขยะ ซ.แพรกษา เสี่ยงทำลายระบบทางเดินหายใจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.ส่งผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบ ก๊าซพิษจากไฟไหม้บ่อขยะบางปู จ.สมุทรปราการ 4 ชนิด ระบุทำระบบทางเดินหายใจระคายเคืองทั้งเฉียบพลันและระยะยาว เผยแจกหน้ากากอนามัยกว่า 5,000 ชิ้นให้ชาวบ้านใกล้เคียงใช้ป้องกันการสูดดมควันไฟแล้ว เบื้องต้นได้รับบาดเจ็บ 2 ราย อาการปลอดภัย
ภาพจากเว็บไซต์ www.mcot.net
วันนี้ (17 มี.ค.) นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีไฟไหม้บ่อขยะเนื้อที่ประมาณ 100 ไร่ ภายในซอย 8 นิคมอุตสาหกรรมบางปู หมู่ 4 ต.แพรกษา อ.เมือง จ.สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งบ่อขยะดังกล่าวมีขยะทับถมกันสูงหลายเมตร และถูกสั่งปิดมานานหลายปี แต่ยังมีการลักลอบนำขยะมาทิ้งเป็นประจำ ว่า ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) สมุทรปราการจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกไปดูแล ให้การรักษาพยาบาลเบื้องต้นแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากควันไฟ ให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) แพรกษา อสม.ร่วมกับ อบต.แพรกษา แจกหน้ากากอนามัย 5,600 ชิ้น เพื่อป้องกันการสูดละอองควันไฟเข้าปอด และดำเนินการคัดกรองกลุ่มเสี่ยงที่อาศัยอยู่ในรัศมีรอบบ่อขยะที่สำคัญ เช่น ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหอบหืด โรคปอด ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีอาการกำเริบได้ง่าย

นอกจากนี้ ได้สั่งการให้กรมควบคุมโรค (คร.) ส่งผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีวเวชศาสตร์ ลงไปประเมินผลกระทบสุขภาพทั้งระยะสั้น และระยะยาว เพื่อวางแผนแก้ไขร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในเบื้องต้นได้รับรายงานว่ามีผู้ได้รับผลกระทบ 2 ราย รายแรกเป็นอาสาดับเพลิงชาย อายุ 17 ปี สำลักควันไฟหายใจไม่ออก ทีมแพทย์ฉุกเฉินนำตัวส่ง รพ.สมุทรปราการ ขณะนี้อาการดีขึ้นและกลับไปพักผ่อนที่บ้าน รายที่ 2 เป็นหญิงอายุ 35 ปี หายใจไม่ออกเช่นกัน ไปรักษาที่ รพ.เปาโล (เมโมเรียล) สาขาสมุทรปราการ อาการดีขึ้นกลับบ้านแล้ว ขอแนะนำประชาชนให้หลีกเลี่ยงการสูดควันไฟ หากจำเป็นต้องออกจากบ้าน ขอให้ใส่หน้ากากอนามัย หรือใช้ผ้าชุบน้ำปิดปากจมูก หากเกิดอาการระคายเคือง เช่น แสบตา หรือใจสั่น แน่นหน้าอก ขอให้พบแพทย์ในสถานพยาบาลที่อยู่ใกล้” ปลัด สธ.กล่าว

ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดี คร.กล่าวว่า ได้ส่งทีมผู้เชี่ยวชาญจากสำนักโรคจากการประกอบอาชีพ 1 ทีม เพื่อประเมินผลกระทบต่อสุขภาพจากควันไฟเผาไหม้ขยะ โดยทีมจะทำการตรวจวัดคุณภาพอากาศ เพื่อวัดมลพิษในอากาศ ที่สำคัญ 4 ตัว ได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งค่ามาตรฐานต้องไม่เกิน 5,000 พีพีเอ็ม คาร์บอนมอนอกไซด์ ค่ามาตรฐานต้องไม่เกิน 34.2 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ใน 1 ชั่วโมง ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ต้องมีค่าไม่เกิน 0.30 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ใน 24 ชั่วโมง และสารฟอร์มาดีไฮด์ ค่ามาตรฐานในอากาศต้องไม่เกิน 0.004 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งความรุนแรงของผลกระทบจากสารพิษดังกล่าว ขึ้นอยู่กับปริมาณการสูดเข้าไป และระยะการสัมผัส เช่น อยู่ใกล้มาก ก็อาจได้รับเข้าไปมาก โดยอาการที่เกิดมีตั้งแต่ระคายเคืองอย่างเฉียบพลัน จนถึงหมดสติ

นพ.โสภณ กล่าวว่า สำหรับอันตรายของสารพิษ มีดังนี้ 1.คาร์บอนไดออกไซด์ เมื่อสูดเข้าร่างกาย จะทำให้หายใจเร็ว ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจเต้นเร็ว หากได้รับปริมาณมาก จะมีผลกดสมอง มึนงง สับสน อาจหมดสติ เสียชีวิตได้ 2.สารฟอร์มาดีไฮด์ ทำให้ระคายเคืองเนื้อเยื่อทางเดินหายใจ ในระยะยาวทำให้เกิดโรคต่อถุงลมปอด ส่วนพิษในระยะเฉียบพลันคือแสบตา ระคายเคืองทางเดินหายใจ แน่นหน้าอก หายใจหอบ หากสูดดมไอระเหยเข้มข้นสูงมากตั้งแต่ 100 พีพีเอ็ม อาจทำให้เสียชีวิตได้ 3.คาร์บอนมอนอกไซด์ มีผลทำให้ออกซิเจนไม่สามารถรวมตัวกับเฮโมโกบินในเลือดได้ ทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน เกิดอาการวิงเวียนศีรษะ หัวใจเต้นเร็ว คลื่นไส้อาเจียน ถึงขั้นหมดสติและเสียชีวิตได้ และ 4.สารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ทำให้ชีพจรเต้นถี่ แน่นหน้าอก หากได้รับในปริมาณเข้มข้นสูง อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มอ่อนแอ เช่น ผู้ป่วยโรคหอบหืด ผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคปอด และผู้สูงอายุ

นพ.ณรงค์ กล่าวเพิ่มเติมภายหลังประชุมติดตามสถานการณ์มลพิษจากไฟไหม้บ่อขยะ ซ.แพรกษา อ.เมือง จ.สมุทรปราการ ร่วมกับ สสจ.สมุทรปราการ รพ.สมุทรปราการ ผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษจากกรมควบคุมโรค กรมอนามัย และกรมควบคุมมลพิษ ว่า ยังไม่มีผู้ป่วยเพิ่ม แต่สภาพของฝุ่นควันค่อนข้างหนา มีกลิ่นเหม็น เจ้าหน้าที่ต้องใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา ได้รับรายงานผลการตรวจวัดมลพิษของกรมควบคุมมลพิษที่บริเวณใกล้จุดไหม้ พบค่าของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์อยู่ที่ 5-8 พีพีเอ็ม สูงกว่ามาตรฐานที่ 0.75 พีพีเอ็ม ขณะนี้มีหมู่บ้านได้รับผลกระทบ 4 แห่ง ประมาณ 10,000 คน มีประชาชนอพยพไปที่ศูนย์อพยพแล้ว 200 คน

นพ.ณรงค์ กล่าวว่า การวางแผนแก้ไขปัญหามลพิษ สธ.ทำหน้าที่เฝ้าระวังสุขภาพในคน ส่วนสิ่งแวดล้อมเป็นของกรมควบคุมมลพิษ โดยจะประชุมร่วมกัน เพื่อวางแผนการดูแลอย่างเป็นระบบ โดย สธ.ได้ตั้งวอร์รูมที่ สสจ.สมุทรปราการ มี นพ.นำพล แดนพิพัฒน์ รอง นพ.สสจ.สมุทรปราการเป็นผู้บัญชาการ มีการประชุมวางแผนประเมินสถานการณ์ทุกวัน เบื้องต้นวางแผนการดูแลสุขภาพประชาชนเป็น 2 ระยะ คือระยะเฉพาะหน้า ให้ รพ.สมุทรปราการจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ประจำ อบต.แพรกษา ตลอด 24 ชั่วโมง ดูแลทั้งการเจ็บป่วยทั่วไปและสุขภาพจิต โดยจะปรับบริการตามสภาพปัญหาแต่ละวัน ผลการประเมินความเครียดประชาชนที่อพยพ พบมีความเครียดระดับปานกลาง และปัญหาอดนอน นอนไม่หลับ

"ส่วนระยะยาวมอบให้กรมควบคุมโรค ร่วมกับกรมอนามัย จัดทำมาตรฐานทางวิชาการในการประเมินและเฝ้าระวังผลกระทบด้านสุขภาพประชาชน โดยแยกตามกลุ่มเสี่ยง 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ เจ้าหน้าที่ดับเพลิง ซึ่งจัดเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิด และประชาชนทั่วไปที่สัมผัสละอองควันไฟและมีความเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ผู้ที่มีโรคประจำตัว เบื้องต้นได้วางแผนขึ้นทะเบียนผู้สัมผัสทั้งหมด เพื่อติดตามในระยะยาวอย่างต่อเนื่อง" ปลัด สธ. กล่าว

นพ.ณรงค์ กล่าวว่า สธ.ได้แจกหน้ากากอนามัย 10,000 ชิ้น สำรองอีก 30,000 ชิ้น และเตรียมหน้ากากอนามัยชนิดพิเศษอีก 500 ชิ้น แนะนำให้ประชานที่อาศัยอยู่รอบบ่อขยะ ควรติดตามสถานการณ์ฝุ่นละอองและมลพิษในอากาศอย่างใกล้ชิด ปฏิบัติตามคำแนะอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัย ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงควรจำกัดการอยู่นอกอาคารบ้านพัก ผู้ที่เจ็บป่วยหากมีอาการไอ หายใจลำบาก แน่นหรือเจ็บหน้าอก หัวใจเต้นไม่เป็นปกติ คลื่นไส้ เหนื่อยง่ายกว่าปกติ หรือปวดมีนศีรษะ ขอให้พบแพทย์ ควรเตรียมหน้ากากอนามัยไว้ให้พร้อมต่อใช้งานหากเกิดภาวะฉุกเฉิน


กำลังโหลดความคิดเห็น