xs
xsm
sm
md
lg

รพ.เด็กวอนพ่อแม่ปกป้องสิทธิและคุ้มครองเด็ก ด้านกรมจิตเตือนอย่าพาเด็กไปที่ชุมนุม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรมสุขภาพจิตเตือนอย่านำเด็กไปในพื้นที่ชุมนุม เหตุยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ระบุทางออกของความสูญเสียคือต้องยอมรับความเป็นจริง และสังคมต้องตระหนักถึงความปลอดภัยของเด็กด้วย ด้าน รพ.เด็กเสนอ 3 ข้อวิงวอน หลังเหตุรุนแรงทางการเมืองพรากชีวิตเด็กแล้ว 4 ราย ขอทุกฝ่ายยุติการใช้ความรุนแรง พ่อแม่อย่าพาเด็กไปที่ชุมนุมหรือใกล้ที่ชุมนุม และต้องปกป้องสิทธิเด็ก คุ้มครองเด็กให้พ้นจากอันตราย

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากกรณีมีเด็กเสียชีวิตจากการชุมนุมทางการเมือง ผู้ปกครองควรหลีกเลี่ยงการนำเด็กไปร่วมชุมนุม หรือเข้าไปในบริเวณที่มีการชุมนุม เนื่องจากขณะนี้สถานการณ์ไม่สามารถคาดการณ์ได้ และไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรเมื่อใด ทำให้ความเสี่ยงในการได้รับผลกระทบมีมากขึ้น และที่จริงแล้วถือเป็นหลักพื้นฐานของการเอาตัวรอด ที่เมื่ออยู่คนเดียวก็เอาตัวรอดได้ดี แต่ถ้ามีเด็กอยู่ด้วยยิ่งมากก็จะยิ่งดูแลได้ยาก โดยเฉพาะถ้าเด็กที่อายุต่ำกว่า 6 ขวบ ก็จะไม่เข้าใจทิศทางการหลบหลีกเหมือนผู้ใหญ่ และเด็กก็หวังพึ่งเพียงผู้ใหญ่อย่างเดียว อย่างไรก็ตามจากกรณีที่มีเด็กเสียชีวิตอาจทำให้เกิดความเศร้าสลดในสังคม เพราะทุคนมีความรู้สึกร่วมกัน โดยเฉพาะพ่อแม่และคนในครอบครัวที่มาร่วมด้วย หรือข่าวแบบนี้ก็จะสะเทือนใจมากแม้แต่คนที่ไม่มีลูกก็ยังสะเทือนใจ ซึ่งเรื่องนี้ต้องให้เวลากับความรู้สึกของความสูญเสียซึ่งก็ต้องปล่อยให้เป็นไปตามภาวะปกติ เพื่อให้จิตใจค่อยๆ ฟื้นตัว

พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า ทางออกที่ดีสำหรับความสูญเสียคือ การยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นและยอมรับความเป็นจริง ซึ่งก็จะเข้าสู่กระบวนการการสูญเสียและเสียใจ ที่จะมีความโกรธ หดหู่ และเกิดความท้อแท้ ใน 3 อารมณ์ที่มักมาร่วมกันเสมอ โดยความเสียใจจะคลายลงตามระยะเวลา และที่สุดก็จะมีการยอมรับถึงความเป็นจริงว่าในสังคมมีความรุนแรงถึงขั้นที่เด็กต้องมาเสียชีวิตในเหตุการณ์ และเมื่อเข้าสู่กระบวนการการยอมรับได้แล้ว ทุกคนก็ต้องมาหารือร่วมกันอย่างจริงจังว่าการนำเด็กเข้ามาร่วมชุมนุมหรือทำรุนแรงกับเด็กนั้น สังคมต้องออกมาตระหนักร่วมกันถึงความปลอดภัยของเด็ก ว่าเป็นเรื่องสำคัญเพื่อนำไปสู่การปรับวิถีชีวิตและเกิดการเรียนรู้ว่าหากมีการชุมนุมว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไร

วันนี้ (25 ก.พ.) สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) ได้เผยแพร่บทความ "3 ข้อวิงวอน" กรณีมีเด็กเสียชีวิตจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง มีใจความโดยสรุป ว่า สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ข่อร่วมแสดงความเสียใจต่อผู้สูญเสียทุกครอบครัว ในความเป็นพ่อและแม่ นี่คือการสูญเสียทุกอย่างของความเป็นครอบครัว หรือถ้าไม่เสียชีวิตภาพของเด็กที่ต้องร้อไห้ เจ็บปวด จากการรักษาไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด ทำแผล ฉีดยา หรือภาพของเด็กที่ร้องไห้ ไม่เข้าใจว่าทำไมตัวเองต้องพิการ เดินไม่ได้เหมือนเดิม เป็นภาพที่ไม่เพียงแต่พ่อแม่ทุกข์ทรมานไปด้วย แพทย์ พยาบาลที่ดูแลเด็กก็รู้สึกเช่นเดียวกน รพ.เด็กขอวิงวอน 3 ข้อ คือ 1.ขอทุกฝ่ายไม่ว่าท่านจะเป็นผู้กระทำหรือเป็นผู้ยั่วยุให้เกิดการกระทำ ท่านคือผู้ที่มีส่วนร่วมในการทำร้ายและทำลายชีวิตของผู้บริสุทธิ์ ขอได้หยุดการใช้ความรุนแรงในทุกกรณี

2.ไม่พาเด็กเข้าร่วมหรือไปอยู่ในสถานที่ใกล้การชุมนุมทางการเมืองเด็ดขาด ซึ่งำม่ว่าจะเป็นการชุมนุมฝ่ายใด พ่อแม่ไม่ควรมองข้ามการนำเด็กเข้าร่วมการชุมนุม เพราะเป็นการนำเด็กเข้าอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีการใช้เสียง วาจา สีหน้าที่สื่อถึงความเกลียดชัง เด็กต่ำกว่า 7 ปี ยังไม่สามารถเข้าใจเหตุผลได้ดี แม้แต่เด็กอายุ 12-13 ปี ซึ่งเราเข้าใจว่าน่าจะโตพอที่จะเข้าใจเหตุผล แต่ความเป็นจริงยังขาดประสบการณ์ในการวิเคราะห์คัดกรอง เด็กจึงมีสิทธิ์รับสารของการเกลียดชัง ซึ่งมีผลต่อวิธีคิด บุคลิกภาพต่อไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

และ 3.ขอให้ทุกคนในสังคม พ่อแม่ผู้ปกครองร่วมกันปกป้องสิทธิเด็ก คุ้มครองเด็กให้พ้นจากอันตรายต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น ทั้งทางร่างกายหรือจิตใจ ซึ่งปฏิบัติโดยง่ายคือไม่พาไปร่วมในกลุ่มผู้ชุมนุม เนื่องจากเด็กคงไม่เข้าใจว่าสิทธิแปลว่าอะไรและสำคัญอย่างไร เด็กยังคิดไม่เป็น เด็กเล็กยังพูดไม่ได้ เด็กโตยังพูดไม่ค่อยเป็น พ่อแม่จึงต้องปกป้องดูแลให้เด็กได้รับสิทธิ ซึ่งไทยยอมรับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิเด็กที่สหประชาชาติต้องการให้ทั่วโลกได้รู้และปกป้องคือ สิทธิการมีชีวิตรอด สิทธิการได้รับพัฒนาความสามารถและการเรียนรู้ สิทธิในการได้รับการปกป้องคุ้มครองให้พ้นจากอันตรายทุกรูปแบบ และสิทธิในการมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นหรือเสนอแนะความเห็นของตนเอง


กำลังโหลดความคิดเห็น