xs
xsm
sm
md
lg

เจ๋ง! คิดวิธีตรวจยาผสมใน “สี่คูณร้อย” ถึง 10 ชนิดในครั้งเดียว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรมวิทย์ผุดวิธีตรวจยาเสพติด “สี่คูณร้อย” เทคนิค “HPLC” ช่วยตรวจยาที่นำมาผสมในสี่คูณร้อยได้ 10 ชนิดในครั้งเดียว ระบุแม้มีความเข้มข้นต่ำก็ตรวจเจอ ฟุ้งช่วยให้การพิจารณาคดีเร็วขึ้น ด้าน อย.ชี้หากตรวจเจอส่วนผสมกระท่อมก็ถือว่าผิดแล้ว แต่ตรวจเจอยาอื่นแค่ช่วยเพิ่มโทษ

นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ยาเสพติด “สี่คูณร้อย” เริ่มระบาดในจังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อปี 2547 โดยเป็นชื่อที่เรียกเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำต้มใบกระท่อม และส่วนประกอบอื่นๆ รวม 4 ชนิด เริ่มแรกประกอบด้วย น้ำต้มใบกระท่อม เครื่องดื่มโคล่า ยาแก้ไอ และยากันยุง แต่ปัจจุบันมีความหลากหลายตามความต้องการของผู้เสพ มีการนำตัวยาแผนปัจจุบันและวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทมาผสมจำนวนมาก จากข้อมูลการจำแนกองค์ประกอบทางเคมีในสูตรสี่คูณร้อยของศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12 สงขลาและสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) พบว่า มีการนำตัวยามาผสมมากกว่า 10 ตัวยา เช่น ไดเฟนไฮดรามีน คลอร์เฟนิรามีน ทรามาดอล อัลปราโซแลม เป็นต้น

นพ.อภิชัย กล่าวอีกว่า ตัวยาเหล่านี้มักเป็นยาในกลุ่มยาแก้แพ้แก้ไอ แก้ปวด และวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ดังนั้น ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12 จึงเพิ่มศักยภาพห้องปฏิบัติการตรวจพิสูจน์ของกลางยาเสพติดด้วยการพัฒนาเทคนิคการตรวจพิสูจน์สูตรสี่คูณร้อย ให้สามารถตรวจตัวยาหลายชนิดพร้อมกันได้ในครั้งเดียว และสามารถตรวจพิสูจน์ตัวยาในระดับความเข้มข้นต่ำๆ ได้ ทำให้ตรวจพิสูจน์ได้รวดเร็ว ถูกต้องแม่นยำยิ่งขึ้น เป็นประโยชน์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจให้กระบวนการพิจารณาคดีรวดเร็วขึ้น

น.ส.ธาริยา เสาวรัญ ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12 กล่าวว่า วิธีการตรวจที่พัฒนาขึ้น ใช้เทคนิค “HPLC” ใช้เวลาในการดำเนินการ 23 นาที สามารถตรวจพิสูจน์ตัวยาได้ 10 ชนิดพร้อมกัน คือ มิตราจัยนีน โคเดอีน แคฟเฟอีน ทรามาดอล คลอร์เฟนิรามีน เดกโตรเมทอร์แฟน ไดเฟนไฮดรามีน โปรเมทาซีน อัลปราโซแลม และไดอาซีแพม สามารถตรวจวิเคราะห์ได้ละเอียดและรวดเร็วกว่าเทคนิค “TLC”

ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า สารหลักที่พบในสี่คูณร้อย คือ ใบกระท่อม หากกรมวิทย์ตรวจพบใบกระท่อมในสี่คูณร้อย ย่อมจัดว่าเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ซึ่งหากพบการทำหรือเสพ ถือว่ามีความผิด โดยหากมีใบกระท่อมไม่เกิน 10 กิโลกรัมเพื่อจำหน่ายหรือการใดก็ตามจะมีโทษจำคุก 2 ปี หรือปรับ 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่หากมีใบกระท่อมในครอบครองเกิน 10 กิโลกรัมมีโทษจำคุก 2 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท แต่หากเป็นการเสพจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 2,000 บาท หากตรวจสารสี่คูณร้อยและพบว่า มีสารประกอบอื่นที่เป็นยาแผนปัจจุบัน จะมีโทษเรื่องการจำหน่ายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท


กำลังโหลดความคิดเห็น