xs
xsm
sm
md
lg

แพทยสภาเสียงแตก ประชุม 2 ชม.สุดท้ายไร้มติเลือกข้าง “เอา-ไม่เอาปู”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แพทยสภาเสียงแตกทางการเมือง ประชุมนานกว่า 2 ชั่วโมง สุดท้ายได้มติร่วมจะไม่แสดงความเห็นทางการเมืองในนามมติ หรือมีแถลงการณ์จากแพทยสภา แต่หากสมาชิกต้องการแสดงออกสามารถกระทำได้ในนามส่วนบุคคล ด้านปลัด สธ.ร่วมประชุมด้วย
นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เลขาธิการแพทยสภา
วันนี้ (13 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมการแพทยสภาประจำเดือน ก.พ. 2557 มีวาระการพิจารณาเรื่อง ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา ลงนามแสดงความคิดเห็นร่วมกับประชาคมสาธารณสุขเรียกร้องให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีลาออกจากรัฐบาลรักษาการ ซึ่งใช้เวลาในการพิจารณานานกว่า 2 ชั่วโมง จึงได้ข้อยุติ เนื่องจากกรรมการแพทยสภาซึ่งมีทั้งหมด 52 คน ต่างก็มีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ซึ่งการประชุมในครั้งนี้มี นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เข้าร่วมประชุมด้วยในฐานะกรรมการแพทยสภา

นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ได้ข้อยุติตรงที่ว่าการให้สัมภาษณ์ของนายกแพทยสภาสามารถกระทำได้ในนามส่วนบุคคล แต่ไม่ใช่ในนามของแพทยสภา ถือว่าเป็นสิทธิที่สามารถกระทำได้ และสมาชิกแพทยสภาก็สามารถให้ความเห็นเรื่องการเมืองในนามส่วนบุคคลได้เช่นกัน ทั้งนี้ จะไม่มีการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่เป็นมติของแพทยสภาหรือมีแถลงการณ์แต่อย่างใด

พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปแห่งประเทศไทย (สพศท.) หนึ่งในตัวแทนประชาคมสาธารณสุข กล่าวว่า ศ.นพ.สมศักดิ์ พูดในนามนายกแพทยสภา ไม่ได้พูดในนามแพทยสภา เรื่องนี้ต้องทำความเข้าใจก่อน เพราะเป็นเพียงบุคคลคนเดียว ซึ่งมีสิทธิในการออกมาแสดงออกทางความคิดเห็น ส่วนการรักษาพยาบาลย่อมต้องมีความเป็นกลางอยู่แล้ว เพราะวิชาชีพแพทย์มีจริยธรรมพอ อย่างไรก็ตาม เท่าที่ทราบในการประชุมแพทยสภาทุกครั้ง รวมทั้งครั้งล่าสุดคือวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ก็ยังมีความคิดเห็นที่แตกต่าง จึงมีมติออกมาไม่ได้ว่า ทุกคนคิดเห็นอย่างไร แต่ร้อยละ 70-80 ต่างก็รู้สึกว่าต้องออกมาแสดงออกเพื่อสังคม เนื่องจากวิชาชีพแพทย์มีจริยธรรม แต่ผู้นำประเทศต้องมีจริยธรรมมากกว่า เมื่อถูกสังคมจับตามองเรื่องการจำนำข้าว จึงต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก เพื่อเปิดให้มีการตรวจสอบอย่างโปร่งใส และค่อยกลับมาใหม่ก็ไม่สาย    

"ส่วนกรณีที่ทางเครือข่ายบุคลากรทางการแพทย์และการสาธารณสุข จะรวบรวมรายชื่อบุคลากรสาธารณสุขและข้าราชการทุกคน เพื่อร่วมแสดงจุดยืนขอให้นายกรัฐมนตรีลาออกนั้น ปรากฎว่า หลังจากเปิดเว็บไซต์ตั้งแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาจนถึงเวลา 18.00 น.วันที่ 13 กุมภาพันธ์ มีผู้ร่วมลงชื่อรวม 1,845 คน แบ่งเป็น บุคลากรในกระทรวงสาธารณสุข 1,027  คน  บุคลากรนอกระทรวงสาธารณสุข 295  คน  ประชาชนทั่วไป 481  คน และข้าราชการ/พนักงานราชการ/ลูกจ้างกระทรวงอื่นๆ 42  คน ซึ่งจะเพิ่มจำนวนขึ้นอีกอย่างแน่นอน โดยจะสรุปทุกๆสัปดาห์และจะมีการหารือกันว่าจะเดินหน้าอย่างไร เพื่อส่งต่อให้นายกรัฐมนตรีทราบว่า มีคนต้องการให้ลาออกจริงๆ " พญ.ประชุมพร กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น