xs
xsm
sm
md
lg

สจล.ล้ำต่อยอดรถมอเตอร์ไซค์สำหรับคนพิการฟันได้ใช้เร็วกว่ารถเมล์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สจล.เร่งประกอบรถมอเตอร์ไซค์สำหรับคนพิการทดลองแจก 20 คัน คาดใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดข้อจำกัดเรื่องการเดินทาง พร้อมติดตามผลเพื่อนำมาพัฒนาต่อยอด

วันนี้ (10 ธ.ค.) ดร.ดอน อิศรากร อาจารย์ประจำสาชาวิชาวิศกรรมการวัดและควบคุม คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
(สจล.) กล่าวถึงแนวคิดการทำรถจักรยานยนต์สำหรับคนพิการ ว่า แนวคิดดังกล่าวสืบเนื่องจากว่า คณะวิศกรรมฯได้ทำข้อตกลง (MOU) กับทางสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ (พก.) และทาง พก.ได้ให้โจทย์มาว่าอยากได้รถจักรยานยนต์ที่คนพิการสามารถใช้งานได้โดยในเบื้องต้นจะทำขึ้นมา 20 คัน เพื่อเป็นตัวอย่าง ตนจึงได้เข้าไปศึกษารูปแบบรถที่มีอยู่แล้วกับบริษัท สวัสดีโปรเมด เพื่อนำรถที่เคยผลิตมาปรับปรุงให้สามารถตอบโจทย์คนพิการได้มากขึ้น ซึ่งลักษณะของรถจักยานยนต์สำหรับคนพิการนั้น จะเป็นรถที่ใช้เครื่องยนต์ขนาด 110 ซีซี ตำแหน่งของเครื่องยนต์จะอยู่ด้านหน้ารถเพื่อให้ด้านหลังมีความต่ำพอที่จะสามารถยกรถวีลแชร์ขึ้นไปได้ ระบบเกียร์จะเป็นลักษณะกึ่งอัตโนมัติ มีทั้งหมด 3 เกียร์ และมีเกียร์ถอยหลัง เพื่อง่ายต่อการใช้งาน ทั้งนี้ผู้พิการที่สามารถจะใช้งานนั้นจะต้องเป็นบุคคลที่พิการตั้งแต่ช่วงล่างลงมา ส่วนบนของร่างกายโดยเฉพาะมือจะต้องมีความแข็งแรงพอสมควร เนื่องจากว่าจะต้องให้มือทั้งสองข้างบังคับรถ อย่างไรก็ตาม ตนคาดว่าสภาพปัญหาปัญหาการจราจรในประเทศไทยจะไม่เป็นข้อจำกัดในการขับขี่ เพราะหากเป็นทางขรุขระ หรือลูกระนาด รถประเภทนี้จะสามารถผ่านได้ สำหรับเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนนนั้นยังถือว่ามีความปลอดภัยกว่ารถจักรยานยนต์ทั่วไปที่คนธรรมดาขับ เพราะรถจะมีโครงสร้างรอบๆ คัน ที่สามารถป้องกันเมื่อเกิดอุบติเหตุ ซึ่งอาจจะส่งผลให้เกิดการพิการซ้ำซ้อนด้วย

ดร.ดอน กล่าวต่อว่า รถดังกล่าวเมื่อทาง สจล.ประกอบเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะต้องผ่านการตรวจสอบจากกรมการขนส่งทางบก (ขส.ทบ.) เพื่อขอใบอนุญาต และตัวคนพิการเองจะต้องเข้ารับการอบรมวิธีการใช้ และอบรมการเพื่อทำใบขับขี่ ซึ่งทาง ขส.ทบ.จะมีเกณฑ์สำหรับผู้พิการอยู่แล้ว โดยในวันที่ 11-12 ธ.ค.จะมีการจัดอบรม ทดสอบขับ
อย่างไรก็ตามเมื่อแจกรถให้กับผู้พิการไปแล้วจะต้องมีการติดตามผลการใช้งาน ซึ่งคาดว่าหากผู้พิการใช้รถที่ได้ไปทุกวันภายในเวลา 1 เดือนก็จะสามารถรู้ได้ว่ารถมีจุดบกพร่องจุดใด สามารถตอบสนองความต้องการได้เพียงพอหรือไม่ ซึ่งตนอยากได้ข้อคิดเห็นจากผู้ใช้งานโดยตรงเพื่อที่จะได้นำไปพัฒนา ปรับปรุง ให้มีความสมบูรณ์แบบ และจัดทำในรุ่นต่อไป ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบกับรถเมล์สำหรับผู้พิการตนเห็นว่าจะมีความเป็นไปได้ว่าคนพิการจะได้ใช้เร็วกว่า

“เมื่อคนพิการได้รถมอเตอร์ไซค์ไปแล้ว ผมคิดว่าพวกเขาจะใช้งานได้อย่างคุ้มค่าที่สุด สามารถออกไปทำงาน ออกไปเรียน ได้เหมือนคนปกติทั่วไป และยังจะช่วยลดค่าใช่จ่ายลงด้วย เพราะในแต่ละครั้งที่พวกเข้าออกนอกบ้านจะต้องเสียค่าแท็กซี่แพงมาก หากได้ใช้มอเตอร์ไซค์ก็จะทำข้อจำกัดในเรื่องของการเดินทางลดลง” ดร.ดอนกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น