xs
xsm
sm
md
lg

ตร.เฉย! ปล่อย จนท.สธ.ตรวจ “คอนเสิร์ตคนหัวใจสิงห์” ขายเบียร์ผิด กม.จนโดนคุกคาม-แจกของลับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผิดแล้วผิดอีก! คอนเสิร์ตคนหัวใจสิงห์พบขายเบียร์ผิดกฎหมาย “หมอสมาน” ชี้ขายเถื่อนกันโจ๋งครึ่งในสวนสาธารณะของราชการ เผย จนท.รัฐไม่ห้ามปรามแถมดื่มเสียเอง ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจยืนเฉยไม่ร่วมเข้าตรวจสอบ แถมเจอคุกคามแจกของลับเพียบ เตรียมยื่น ผบ.ตร.ช่วยเข้มการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ
นพ.สมาน ฟูตระกูล
นพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่ของทีมนิติกร สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 23 พ.ย.ที่ผ่านมา ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) สระแก้ว สรรพสามิตพื้นที่สระแก้ว และเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.อรัญประเทศ เพื่อตรวจสอบการจัดคอนเสิร์ตคนหัวใจสิงห์ ที่จัดขึ้นบริเวณสวนสาธารณะกาญจนาภิเษก รัชกาลที่ 9 อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว เนื่องจากได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน พบว่า มีการจัดกิจกรรมโฆษณาสื่อสารการตลาดโดยใช้ดนตรี ด้วยการจัดคอนเสิร์ตคนหัวใจสิงห์ ซึ่งมีการกระทำที่เข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่งดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มาตรา 32 อันมีโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นพ.สมานกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังพบว่า มีการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เถื่อนในสวนสาธารณะของทางราชการท่ามกลางสายตาของเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาจำนวนมาก คือ ขายโดยไม่มีใบอนุญาตจำหน่าย เพราะสรรพสามิตพื้นที่ได้ยืนยันว่าไม่ได้ออกใบอนุญาตให้อย่างแน่นอน เพราะสถานที่ดังกล่าวเป็นสถานที่ต้องห้ามตามกฎหมายจึงไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ ซึ่งการกระทำดังกล่าวมีความผิดทั้งตามพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 และยังผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่งดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มาตรา 27 มีโทษจำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

ที่น่าสะเทือนใจ คือ ขณะตรวจสอบนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่เข้าไปร่วมตรวจสอบตามโต๊ะต่างๆ ที่อยู่ในลานเบึยร์ จึงไม่สามารถดำเนินคดีได้ในทันที ทำให้เจ้าหน้าที่จากส่วนกลางทำได้เพียงเก็บภาพถ่ายและภาพวีดีโอเพื่อเป็นหลักฐานประกอบในการดำเนินคดีในภายหลังเท่านั้น และพบว่ามีเจ้าหน้าที่ของรัฐเองดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ต้องห้ามตามกฎหมายเสียเอง อันมีความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มาตรา 31 มีโทษจำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” นพ.สมาน กล่าว

นพ.สมานกล่าวด้วยว่า ผลจากการไม่จัดกำลังตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองเข้าไปร่วมตรวจสอบอย่างใกล้ชิดกับพนักงานเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางดังกล่าว ทำให้เจ้าหน้าที่ถูกคุกคาม ยั่วยุ ด้วยถ้อยคำ และกริยาต่างๆ เช่น การให้ของลับ การเดินชน การใช้แฟลชของกล้องถ่ายรูปยิงแสงคุกคามไม่ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เก็บหลักฐานได้สะดวก อันเข้าข่ายการกระทำผิดต่อเจ้าพนักงานที่มีโทษทั้งตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 และประมวลกฎหมายอาญา

“อุปสรรคในการปฏิบัติหน้าที่นี้จะมีการนำเรียนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะกรรมการในคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับชาติ เพื่อประสานความร่วมมือในการปรับปรุงการปฏิบัติงาน อันจะนำไปสู่การลดจำนวนผู้ต้องหาจากคดีการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 อันมีโทษจำคุก 1-10 ปี กับคดีที่อาจต้องส่งให้ ป.ป.ท. หรือ ป.ปช. ในกรณีที่อาจพบการกระทำที่เข้าข่ายการทุจริตประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐลง” นพ.สมานกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น