ศธ.เตรียมริเริ่มจัดทดสอบกลางภาษาไทย มอบจุฬาฯ ช่วยคิดและพัฒนาแบบทดสอบหวังให้สะท้อนเหมือนสอบโทเฟล เพื่อสแกนความสามารถภาษาไทยของเด็กไทย “จาตุรนต์” หลายฝ่ายเห็นตรงกันทักษะภาษาไทยของเด็กไทยย่ำแย่ มีปัญหาการเขียนและสรุปความ ชี้หากมีการทดสอบจริงผลอาจน่าตกใจว่าที่เป็นอยู่ ด้าน “ศ.นพ.ภิรมย์” เผยมอบให้สถาบันภาษาไทยสิรินธร ดำเนินการ ระบุผลการทดสอบนิสิตชั้นปี 1 ที่ผ่านมาพบว่าทักษะการเขียนต่ำ
นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยหลังประชุมร่วมกับ ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า เนื่องจากทางจุฬาฯ มีการทดสอบวัดผลทางด้านภาษาไทยกับชาวต่างชาติ และนิสิตชั้นปีที่ 1 ของจุฬาฯ ดังนั้น จึงขอให้ จุฬาฯ มาช่วยออกแบบ แบบทดสอบวัดผลภาษาไทยสำหรับใช้กับคนไทยเจ้าของภาษา เพื่อเตรียมไว้สำหรับใช้ในการจัดทดสอบกลางวัดความสามารถในวิชาภาษาไทย ศธ.ต้องการให้เกิดขึ้น เพราะปัจจุบัน ภาษาต่างประเทศอื่นๆ เช่น ภาษาอังกฤษ ญี่ปุ่น มีการจัดทดสอบกลางวัดความสามารถทางภาษา ซึ่งทั้งเจ้าของภาษา และชาวต่างประเทศที่มาเรียนภาษาจะต้องเข้ารับการทดสอบดังกล่าว เพื่อประเมินความรู้ ความสามารถในภาษานั้นๆ แต่ภาษาไทยกลับไม่มีการจัดทดสอบกลางวัดความสามารถทางภาษาไทยเลย ทั้งที่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนภาษาไทยของเด็กไทยยังไม่เป็นที่น่าพอใจ
ทั้งนี้ จากการพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญในสถาบันอุดมศึกษา หลายคนยืนยันตรงกันว่า เด็กที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้นั้น มีทักษะทางภาษาไทยอ่อนมาก โดยเฉพาะความสามารถในการเขียน และความสามารถในอ่านสรุปความ แต่เด็กเหล่านี้กลับทำคะแนนสอบในวิชาต่างๆ ได้ดี ทั้งนี้ เพราะข้อสอบส่วนใหญ่เป็นปรนัย ไม่มีอัตนัยให้เด็กได้ฝึกเขียน ฝึกสรุปความ โดยเฉพาะการสอบเข้ามหาวิทยาลัยก็ไม่ได้เน้นการทดสอบความสามารถทางภาษา เพราะฉะนั้น จึงเห็นว่าควรจะมีการทดสอบกลางวัดผลทางภาษาไทย เพื่อนำมาสแกนวัดความสามารถทางภาษาไทยของเด็กไทย พร้อมนำผลทดสอบไปใช้ในการปรับปรุงการเรียนการสอนภาษาไทยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
“ทักษะภาษาไทยของนักเรียนมัธยมโดยภาพรวมยังอยู่ในเกณฑ์ไม่น่าพอใจ แต่ไม่แน่ว่าเมื่อมีการทดสอบกลางจริง ผลทดสอบที่ออกมาอาจจะน่าตกใจกว่า ผมจึงขอให้ทางจุฬาฯมาช่วย เพราะจุฬาฯ ได้ริเริ่มทำแบบทดสอบวัดความสามารถทางภาษาไทยสำหรับชาวต่างประเทศไว้แล้ว และได้รับการยอมรับพอสมควร ซึ่งตั้งใจให้การทดสอบคล้ายกับการสอบโทเฟล นอกจากนี้ยังขอให้ จุฬาฯ ส่งผู้เชี่ยวชาญมาช่วยคิดค้น พัฒนาระบบการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศอื่นๆ ด้วย เพราะการจัดการเรียนการสอนในหลายภาษายังให้ผลลัพธ์ไม่น่าพอใจ ผู้เรียนๆ แล้วนำมาใช้ไม่ได้จริง จำเป็นต้องมีการพัฒนา ปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนวิชาภาษาต่างประเทศอย่างจริงจัง ส่วนแบบทดสอบภาษาไทยที่ให้ทางจุฬาฯพัฒนาขึ้นมานั้น จะนำมาหารือผู้เชี่ยวชาญว่า ควรจะนำมาทดสอบผู้เรียนระดับใดบ้าง อาจจะสอบก่อนเข้ามหาวิทยาลัย ก่อนจบมหาวิทยาลัย หรือก่อนจบระดับมัธยมปลาย” นายจาตุรนต์ กล่าว
ด้าน ศ.นพ.ภิรมย์ กล่าวว่า ได้มอบให้สถาบันภาษาไทยสิรินธร ของจุฬาฯ รับไปดำเนินการในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม ความสามารถทางภาษาไทยของผู้ที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ค่อนข้างอ่อนจริง โดย จุฬาฯจะให้นิสิตปี 1 ที่สอบเข้าได้ทุกคน สอบวัดความสามารถทางภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และคอมพิวเตอร์ ซึ่งดำเนินการมาหลายปีแล้ว พบว่า มีปัญหาทักษะในการเขียนต่ำ ซึ่งจุดนี้สะท้อนให้เห็นว่า การเรียนการสอนในระดับมัธยมน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะเด็กสายวิทยาศาสตร์จะได้คะแนนทดสอบภาษาไทยต่ำกว่า เด็กที่เรียนมาสายศิลป์ภาษา