xs
xsm
sm
md
lg

สปสช.เดินหน้าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าคุ้มครองคนไทย ปี 57 พัฒนาระบบรองรับผู้สูงอายุ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สปสช.ก้าวสู่ปีที่ 12 เดินหน้าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คุ้มครองคนไทยไม่ต้องล้มละลายจากการเจ็บป่วย ระบุที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากของบุคลากรการแพทย์สาธารณสุขทั้งภาครัฐ เอกชน ส่งผลให้คนไทยทุกคนมีหลักประกันสุขภาพ เข้าถึงการรักษามากขึ้น ปี 57 เตรียมพัฒนาระบบสนับสนุนการดูแลระยะยาวเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สปสช.มีวิสัยทัศน์ขององค์กรว่า ทุกคนที่อาศัยอยูบนแผ่นดินไทย ได้รับความคุ้มครองหลักประกันสุขภาพอย่างถ้วนหน้าด้วยความมั่นใจ ทำให้คนไทย 48.62 ล้านคน ที่ไม่มีสิทธิประกันสังคม และสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ได้รับสิทธิหลักประกันสุขภาพ และ 1 ใน 3 เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี รวมถึงผู้สูงอายุ เรียกได้ว่าคนไทยทุกคนมีหลักประกันสุขภาพอย่างถ้วนหน้า และคนไทยเข้าถึงการรักษามากขึ้น

ทั้งนี้ พบว่ามีอัตราการใช้บริการผู้ป่วยนอกเพิ่มสูงขึ้น เฉลี่ยจาก 2.45 ครั้ง/คน/ปี ในปี 2546 เพิ่มเป็น 3.37 ครั้ง/คน/ปี ในปี 2555 และอัตราการใช้บริการผู้ป่วยในเพิ่มจาก 0.094 ครั้ง/คน/ปี ในปี 2546 เป็น 0.115 ครั้ง/คน/ปี ในปี 2555 ที่สำคัญทำให้อุบัติการของครัวเรือนที่อาจล้มละลายจากการต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลลดลงอย่างชัดเจน จากร้อยละ 6.8 ในปี 2539 ลดเหลือร้อยละ 2.9 ในปี 2552

เลขาธิการ สปสช.กล่าวต่อว่า ผลการดำเนินงานใน 11 ปีที่ผ่านมา ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ องค์กรระหว่างประเทศ ทั้งองค์การอนามัยโลก สหประชาชาติ ธนาคารโลก ยกย่องให้ไทยเป็นต้นแบบการสร้างหลักประกันสุขภาพของโลก และระบุว่าผลสำเร็จของไทยพิสูจน์การทำให้ประชาชนมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าช่วยขจัดความยากจนได้ ปัจจุบันไทยเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้กับหลายๆ ประเทศ ทั้งในระดับอาเซียน เอเชีย และประเทศในทวีปแอฟริกา ขณะที่ในระดับประเทศนั้น การบริหารกองทุนได้รับรางวัลกองทุนหมุนเวียนดีเด่นจากกระทรวงการคลังทุกปี มาตั้งแต่ปี 2551 และในปี 2556 นี้ ได้รับรางวัลทุนหมุนเวียนเกียรติยศด้วย

นพ.วินัย กล่าวว่า ความสำเร็จที่เกิดขึ้นนั้น มาจากความร่วมมือร่วมใจของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขจากภาครัฐและเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพ ทำให้คนไทย 48.62 ล้านคนมีสิทธิหลักประกันสุขภาพ หรือสิทธิ 30 บาทรักษาทุกโรค สามารถเข้าถึงบริการอย่างทั่วถึง ตั้งแต่การรักษาพยาบาล การส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค การฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์เพื่อสุขอนามัยที่ดี โดยไม่ล้มละลายจากการต้องจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลเอง

ในการก้าวสู่ปีที่ 12 ในปี 2557 นั้น สปสช.จะมีการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์สำหรับการดูแลระยะยาวในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ผู้สูงอายุติดเตียงที่บ้าน เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ รวมถึงเดินหน้านโยบายต่างๆ ที่รัฐบาลมอบหมายให้ สปสช.ดำเนินการตั้งแต่ปี 2556 อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ นโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินมาตรฐานเดียว การบริการกองทุนรักษาพยาบาลข้าราชการและพนักงานส่วนท้องถิ่น หน่วยงานกลางธุรกรรมการเบิกจ่าย 3 กองทุน (National Clearing House) และการดูแลผู้ป่วยมะเร็งมาตรฐานเดียว” เลขาธิการ สปสช.กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น