อย่าสนุกจนลืม! สธ.เตือนผู้ปกครองเพิ่มความระวังดูแลเด็กในวันลอยกระทง ระบุสถิติในช่วง 10 ปี ชี้ชัดแค่วันเดียวเด็กเสี่ยงพลัดตกน้ำ และจมน้ำตายเฉลี่ย 7 คนมากกว่าปกติถึง 2 เท่าตัว แนะผู้ใหญ่ควรเลี่ยงการดื่มสุราและลงน้ำ เพราะเสี่ยงเกิดตะคริวง่าย ย้ำพบคนตกน้ำให้ยึดหลัก “ตะโกน โยน ยื่น” อย่ากระโดดลงไปเองเด็ดขาดเสี่ยงต่อการกอดรัดที่อาจนำมาสู่ความสูญเสีย
นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า เทศกาลลอยกระทง ซึ่งตรงกับวันที่ 17 พ.ย.2556 มีความเป็นห่วงเรื่องอุบัติเหตุการจมน้ำ ซึ่งพบในช่วงเทศกาลวันลอยกระทงทุกปี จากข้อมูลในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีคนจมน้ำเสียชีวิตเฉพาะในวันลอยกระทงวันเดียว ตั้งแต่ พ.ศ.2546-2555 จำนวนรวม 175 คน เป็นกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 68 คน เฉลี่ยวันละเกือบ 7 คน มากกว่าช่วงปกติเกือบ 2 เท่าตัว นอกจากนี้หลังวันลอยกระทง 1 วัน จะพบเด็กจมน้ำสูงใกล้เคียงกับวันลอยกระทงคือ 62 คน กลุ่มเด็กที่จมน้ำพบเพศชายมากกว่าหญิงประมาณ 2 เท่าตัว กลุ่มเด็กที่จมน้ำเสียชีวิตมากที่สุด คือ อายุ 5-9 ปี คิดเป็นร้อยละ 54 รองลงมาคือ อายุ 10-14 ปี ร้อยละ 27 และอายุต่ำกว่า 5 ปี ร้อยละ 19 และจากสถิติที่ผ่านมายังพบว่าหากวันลอยกระทงตรงกับวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ จะมีคนจมน้ำเสียชีวิตสูงกว่าวันธรรมดาเกือบ 3 เท่าตัว
ดังนั้น ขอย้ำเตือนประชาชนที่จะพาบุตรหลานไปลอยกระทงให้เพิ่มความระมัดระวังให้มากขึ้น และหากเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ควรดูแลอย่างใกล้ชิด ไม่ปล่อยให้เด็กอยู่ใกล้แหล่งน้ำตามลำพัง หรือยืนใกล้บริเวณขอบบ่อ ขอบสระ เพราะอาจพลัดตกลงไปในน้ำได้ และสิ่งที่พบเป็นประจำทุกปีคือ จะมีเด็กลงไปเก็บกระทง หรือเก็บเงินในกระทงที่ลอยในน้ำ ผู้ปกครองควรห้าม ไม่ปล่อยให้เด็กลงไปเก็บกระทงอย่างเด็ดขาด เพราะเด็กอาจจมน้ำ เนื่องจากเป็นตะคริว เพราะอยู่ในน้ำเป็นเวลานานและสภาพอากาศหนาวเย็น
ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรณีของร้านอาหารหรือสถานบันเทิงที่อยู่ริมแม่น้ำ ซึ่งส่วนใหญ่จะจัดให้มีท่าน้ำสำหรับให้แขกที่มานั่งในร้านลอยกระทงได้สะดวก ผู้ใช้บริการและจะลอยกระทง ควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และลงน้ำ เนื่องจากจะเสี่ยงเป็นตะคริวได้สูง หรือกรณีที่ผู้ปกครองนำบุตรหลานไปนั่งในร้านอาหารด้วย ต้องดูแลอย่างใกล้ชิดไม่ให้คลาดสายตา เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 3 ปี ต้องอยู่ในระยะที่คว้าถึง การหันไปทำกิจกรรมต่างๆ เพียงเสี้ยววินาที โดยปล่อยให้เด็กลอยกระทงตามลำพังไม่ว่าจะเป็นในกะละมัง หรือถังน้ำที่บ้านก็ตาม อาจทำให้เด็กจมน้ำเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ หน่วยงานที่จัดเตรียมพื้นที่ให้ประชาชนลอยกระทง ควรกำหนดให้ชัดเจน และต้องทำสิ่งกั้นขวาง เพื่อป้องกันเด็กตกน้ำ จัดให้มีผู้ดูแล และต้องเตรียมอุปกรณ์สำหรับช่วยคนตกน้ำให้พร้อม เช่น ห่วงชูชีพ สามารถเข้าถึงได้ง่ายหากเกิดเหตุการณ์ และเขียนป้ายบอกวิธีการใช้ให้ถูกต้อง ผู้ที่ให้บริการทางเรือ ควรจัดเสื้อชูชีพให้พร้อม และต้องไม่บรรทุกผู้โดยสารจนเกินน้ำหนักของเรือ
“เมื่อพบคนตกน้ำต้องรู้วิธีการช่วยเหลือที่ถูกต้อง ห้ามกระโดดลงไปช่วยอย่างเด็ดขาด เพราะอาจจะทำให้ถูกกอดรัดและจมน้ำเสียชีวิตพร้อมกัน การช่วยเหลือที่ถูกวิธี ขอให้ยึดหลัก ตะโกน โยน ยื่น โดยเรียกให้ผู้ที่ว่ายน้ำเป็นมาช่วย หรือหาอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวมาช่วยเหลือ เช่น ไม้ ถังแกลลอนเปล่า เชือก หรือสิ่งที่ยึดเหนี่ยวได้”นพ.โสภณ กล่าว